วิธี ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ พร้อมแนะนำประโยชน์ที่คุณควรรู้!

ชาวคอนโดที่อยากลองปลูกผักกินเองแบบไม่ต้องลงทุนหรือลงแรง หรือแม้กระทั่งการลงทุนค้นหาข้อมูลเพื่อปลูกผักที่มากมายหลายขั้นตอน รวมทั้งการมีพื้นที่ปลูกผักที่จำกัด แนะนำให้ลอง ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ กันค่ะ แม้ว่าผักชนิดนี้จะมีการถกเถียงถึงเรื่องของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผักซึ่งเกิดจากการสะสมของไนเตรท โดยสารดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีผลวิจัยชี้ชัดว่าการกินผักไฮโดรโปนิกส์จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง เอาเป็นว่าใครที่สนใจอยากจะลองปลูกผักชนิดนี้ มาลองดูวิธี ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ประโยชน์ รวมทั้งเนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจกันเลยดีกว่า

รู้จักการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ผักยอดนิยมที่ชาวคอนโดก็ปลูกได้ !

ไฮโดรโปนิกส์ หรือ Hydroponic คือ การปลูกพืชในน้ำที่มีการผสมสารละลายอาหารในการปลูกเลี้ยง หรือที่เรียกกันอีกชื่อคือ ปุ๋ยน้ำ การ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยส่วนใหญ่จะปลูกผักที่กินใบ และผักหรือพืชที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเก็บเกี่ยว ในส่วนของผักไฮโดรโปนิกส์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ ผักกาดหอม กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส ฟิลเลย์ และบัตเตอร์เฮด โดยผักดังกล่าวนี้จะใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวประมาณ 40-60 วันเท่านั้น และนิยมนำมาประกอบอาหารในเมนูสลัดหรือกินสดๆ นอกจากนี้การปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ ยังนิยมนำมาใช้ในการปลูกพืชชนิดอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มันฝรั่ง เมล่อน หัวไชเท้า หัวหอมใหญ่ และสตรอเบอร์รี แต่การ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แต่ละชนิดจะต้องคำนึงถึงภาชนะที่ใช้ด้วยเช่นกัน โดยจะต้องเลือกขนาดของภาชนะที่เหมาะสม เพื่อที่พืชจะได้รับปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วน และเติบโตได้อย่างเต็มที่

ระบบการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่นิยมในประเทศไทย

สำหรับระบบการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะมีอยู่ 5 ระบบ นั่นก็คือ

1.DFT หรือ Deep Flow Technique

2.DRFT หรือ Dynamic Root Floating Technique

3.FAD หรือ Food and Drain

4.NFT หรือ Nutrient Film Technique

5.NFLT หรือ Nutrient Flow Technique

แต่ระบบที่นิยมปลูกในประเทศไทยคือ DFT (Deep Flow Technique) และ NFT (Nutrient Film Technique) โดยทั้งสองระบบจะมีวิธีการปลูกดังนี้

1.DFT (Deep Flow Technique)

DFT หรือ Deep Flow Technique คือ ระบบที่ปลูกพืชโดยที่รากจะแช่อยู่ในสารละลาย มีการปลูกพืชบนแผ่นโฟมหรือวัสดุต่างๆ ที่สามารถลอยน้ำเพื่อยึดลำต้น โดยระบบ DFT จะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ Floating Hydroponic Systems หรือ ระบบไฮโดรโปนิกส์ลอยน้ำ ระบบนี้จะนิยมนำมาใช้ในการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยทั่วไป อีกทั้งยังสามารถประยุกต์รางปลูกได้จากหลากหลายวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม ท่อน้ำ ขวดพลาสติก หรือถังน้ำก็ตาม

2.NFT (Nutrient Film Technique)

NFT หรือ Nutrient Film Technique คือ ระบบที่ให้น้ำที่ผสมสารละลายไหลผ่านรากพืชเป็นแผ่นบางๆ บนรางปลูก โดยให้น้ำไหลผ่านอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รางปลูกจึงต้องมีความลาดเอียง เพื่อที่จะให้แผ่นน้ำที่ไหลผ่านมีความบางคล้ายฟิล์มนั่นเอง

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในกล่องโฟม

การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ในกล่องโฟม ถือเป็นวิธีที่แนะนำให้ทำอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่จำกัด เหมาะสำหรับผู้ที่อาศัยในคอนโดหรือห้องเช่า ในส่วนของวิธีการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในกล่องโฟม สามารถทำตามได้ดังนี้

1.เริ่มจากการเพาะเมล็ดในฟองน้ำ ด้วยการแช่เมล็ดในน้ำ และทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จนกลายเป็นต้นกล้า

2.เมื่อได้ต้นกล้าที่สามารถนำไปปลูกได้แล้ว ให้ทำการเตรียมกล่องโฟม

3.กล่องโฟมที่แนะนำให้ใช้อยู่ที่ขนาด 60×60 เซนติเมตร

4.เจาะรูกล่องโฟมเป็นวงกลม โดยแนะนำให้ใช้สว่านเจาะ เลือกใช้หัวแบบ Hole Sow ขนาด 30-40 mm.

5.หากไม่มีสว่านเจาะ สามารถใช้ท่อ PVC ขนาด 1 นิ้ว หรือใช้มีดเจาะเพื่อให้ได้รูตามขนาดที่ระบุไว้

6.รูที่เจาะไม่จำเป็นต้องสวยงาม แต่เน้นที่ขนาดให้พอเหมาะเพื่อที่จะใส่ถ้วยปลูกได้พอดี

7.ระยะห่างของรูควรห่างประมาณ 10 เซนติเมตร

8.ระยะห่างสำหรับการปลูกผักสลัดควรห่าง 30 เซนติเมตร

9.เมื่อเตรียมกล่องโฟมสำหรับ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการเติมน้ำและผสมปุ๋ยลงไป

10.เอาถ้วยมาใส่ไว้ในรูที่เจาะ

11.เอาต้นกล้าที่เพาะแล้วมาใส่ในถ้วยปลูก

12.คอยสังเกตและรักษาระดับความสูงของน้ำให้อยู่สูงถึงถ้วยปลูกตลอด

13.ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงค่อยเก็บผลผลิตมารับประทาน

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ระเบียงคอนโด

สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในคอนโด และอยากหากิจกรรมทำในช่วงเวลาว่าง หรืออาจจะอยากกินผักที่ปลูกด้วยตัวเองแบบไร้สารพิษ มาลองทำตามวิธี ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ระเบียงคอนโดตามนี้กันค่ะ

1.เตรียมฟองน้ำแบบลูกเต๋า ขนาด 1×1 นิ้ว

2.กรีดบนฟองน้ำให้เป็นเครื่องหมายบวกตรงกลาง โดยห้ามทะลุอีกด้านของฟองน้ำ

3.นำฟองน้ำมากดน้ำให้ชุ่มในภาชนะที่เตรียมไว้ โดยแช่ให้ฟองน้ำอิ่มน้ำ และใส่น้ำหล่อไว้ครึ่งหนึ่ง

4.นำเมล็ดที่ต้องการปลูกมาวางตรงกลางที่กรีดเครื่องหมายบวก โดยที่ไม่ต้องกดเมล็ดลงไป เพราะอาจจะทำให้เมล็ดเน่า

5.รอประมาณ 3-4 วัน ต้นอ่อนจะงอกออกมา

6.เมื่อได้ต้นอ่อนแล้ว ให้เตรียมกระบะเพื่อปลูก ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคนว่าจะเลือกปลูกในภาชนะทรงไหน จะเลือกเป็นกล่องพลาสติกถนอมอาหารก็ได้เช่นกัน

7.ตัดโฟมให้ได้ขนาดเท่าภาชนะที่ต้องการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งต้องวัดด้านในภาชนะ

8.เมื่อได้โฟมขนาดเท่าภาชนะแล้ว ให้เจาะโฟมเป็นสี่เหลี่ยม โดยความกว้างไม่เกิน 1×1 นิ้ว เพื่อสามารถใส่ฟองน้ำได้พอดี และไม่หลวม

9.ต่อด้วยการเตรียมปุ๋ยน้ำ โดยใส่น้ำ 1 ลิตรในภาชนะที่จะปลูก

10.ต่อด้วยการใส่ปุ๋ย A (ซึ่งเป็นขวดฝาสีแดง) ประมาณ 2 ซีซี แล้วคนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที

11.ตามด้วยการใส่ปุ๋ย B (ซึ่งเป็นขวดฝาสีเขียว ประมาณ 2 ซีซี แล้วคนให้เข้ากัน

12.เมื่อได้ปุ๋ยน้ำแล้ว ให้นำโฟมที่ใส่ฟองน้ำที่มีต้นอ่อน มาวางในภาชนะ โดยต้องระวังรากให้ดี เพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ต้นอ่อนกำลังอ่อนแอ

13.วางภาชนะที่ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไว้ที่ระเบียง อาจจะคอยบังแดดจัดด้วยวิธีต่างๆ แม้ว่าผักชนิดนี้จะชอบแดด แต่ก็ไม่ใช่ผักที่ทนต่อความร้อนได้มากนัก

14.ผ่านไป 2 สัปดาห์ เริ่มเปลี่ยนการให้ปุ๋ย โดยน้ำ 1 ลิตร ต่อปุ๋ยแต่ละชนิด 4 ซีซี

15.พยายามสังเกตระดับน้ำ ห้ามให้น้ำลดเกินไป หากต้องการเติมน้ำ ก็ใช้สูตรเดิมก็คือ น้ำ 1 ลิตร ต่อปุ๋ย 4 ซีซี

16.ประมาณ 5-6 สัปดาห์ เมื่อผักเริ่มโตขึ้น ให้เทน้ำปุ๋ยทิ้งทั้งหมด แล้วเติมน้ำเปล่าลงไป ประมาณ 5-6 วันจึงค่อยเก็บกิน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผักคายการสะสมปุ๋ย เพื่อที่เราจะได้กินผักคลีนนั่นเอง

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยระบบน้ำนิ่ง

สำหรับใครที่สนใจในการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ด้วยระบบน้ำนิ่ง สามารถทำตามขั้นตอนดังนี้

1.ทำการเพาะเมล็ดในห้องมืด 2 คืน โดยเวลาที่เหมาะสำหรับการเพาะเมล็ดก็คือช่วงหลัง 4 โมงเย็น โดยนวดฟองน้ำให้มีน้ำเพื่อใช้ในการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการใส่เมล็ดผักควรใส่ 1 เมล็ด โดยให้เมล็ดอยู่เสมอกับผิวของฟองน้ำ จากนั้นให้ฉีดสเปรย์น้ำให้ทั่วฟองน้ำ แล้วเก็บไว้ในห้องมืดประมาณ 2 คืน

2.นำเมล็ดออกมาตากแดดยามเช้า 5 วัน โดยในระหว่างนี้ให้ทำการฉีดสเปรย์น้ำให้ทั่วฟองน้ำ และหมั่นเติมน้ำลงในถาดให้ได้ครึ่งของฟองน้ำ

3.เสียบต้นกล้าและเติมปุ๋ย ทั้งนี้แนะนำให้เตรียมน้ำพร้อมปุ๋ยลงในกล่องหรือภาชนะที่ต้องการปลูกต้นกล้าประมาณ 1 วัน โดยปริมาณการใช้ปุ๋ยจะต้องใช้ทั้งปุ๋ย A และปุ๋ย B ในอัตราที่เท่ากัน ต่อด้วยการเสียบต้นกล้า โดยให้รากสัมผัสน้อยที่สุด ทั้งนี้ฟองน้ำจะต้องโดนน้ำเมื่อวางลงบนภาชนะที่ปลูก

4.เมื่อครบ 25 วัน จะสังเกตเห็นได้ว่าน้ำในภาชนะจะลดลง จึงต้องเติมน้ำเปล่าลงไปในระดับครึ่งของภาชนะ ทั้งนี้ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 วัน ควรดูดน้ำในภาชนะออกให้หมด แล้วเติมแต่เพียงน้ำเปล่าลงในภาชนะ

5.การเก็บเกี่ยวผักไฮโดรโปนิกส์ ควรเก็บเกี่ยวในวันที่มีแดด และควรเก็บในช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงที่ไนเตรทต่ำลง หากเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีแดดจัด ผักไฮโดรโปนิกส์จะมีการนำไนเตรทมาใช้ประโยชน์

ประโยชน์ของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

 ในส่วนของประโยชน์ที่ได้จากการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1.สามารถควบคุมการใช้ธาตุอาหารของพืชได้ง่ายกว่าการปลูกพืชในดิน

2.สามารถประหยัดการใช้น้ำได้มากกว่าการให้น้ำกับพืชที่ปลูกบนดิน ซึ่งเมื่อเทียบการใช้น้ำแล้ว การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์สามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 10 เท่า

3.ช่วยลดค่าแรงงานในการเตรียมพื้นที่สำหรับ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ได้มาก

4.สามารถควบคุมโรคดินได้ง่ายกว่าการปลูกผักในดินแบบทั่วไป

5.ปลูกได้ในทุกพื้นที่ แม้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ในดิน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุมาจากการที่ดินไม่ดีหรือในพื้นที่ที่เป็นพื้นปูนก็ตาม

6.การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ให้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ

7.ผักที่ได้จากการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์จะให้คุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับผักที่ปลูกในดิน

8.ผลผลิตที่ได้จากการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลผลิตที่ปลูกในดิน

9.ช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์มากกว่าการปลูกแบบในดิน

10.สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่จำกัด

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวิธีการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับหลายๆ คนที่อยากลองหากิจกรรมทำในยามว่าง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดอนันดาทุกท่านที่อยากมีผักปลอดสารพิษได้กินบ่อยๆ ลองนำวิธีที่เราได้เอามาแบ่งปันไปปรับใช้กันดูนะคะ ใครสะดวกทำตามวิธีไหนก็สามารถเลือกทำตามวิธีนั้นได้เลย ทั้งนี้การ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราสามารถใช้เวลาว่างไปกับการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามั่นใจในความปลอดภัยจากการกินผักที่ปลูกด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับผักสวยๆ ที่ซื้อตามท้องตลาด ย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผักที่ซื้อและเอามาประกอบอาหารในทุกวัน ผ่านการฉีดยาฆ่าแมลงไปมากเท่าไรแล้ว และกว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเรา ผักเหล่านั้นก็คงจะเต็มไปด้วยสารปนเปื้อนมากมายที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top