ชำแหละกองทุน SSF / RMF เตรียมลดหย่อนภาษีคืออะไรต่างกันยังไง?

สิ้นปีแล้วถือเป็นช่วงเข้าโค้งสุดท้ายของเทศกาลลดหย่อนภาษี ใครมีรายการลดหย่อนแบบไหนเตรียมข้อมูลหรือเอกสารให้พร้อมเพื่อจะได้ไม่พลาดสิทธิ์ และอีกหนึ่งในรูปแบบลดหย่อนภาษียอดนิยมสำหรับคนวัยทำงานนั่นคือการซื้อกองทุน SSF และ RMF ที่นอกจากจะได้ออมและลงทุน ทางรัฐบาลยังให้ สิทธิประโยชน์กับผู้มีเงินได้ทุกคนในการลดหย่อนภาษีสำหรับกรณีนี้ด้วย เพื่อผู้มีรายได้ทุกคนสามารถประหยัดภาษีไปพร้อมกับการลงทุนระยะยาวและการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณได้อีกด้วย

กองทุน SSF (Super Saving Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมและลงทุน โดยกองทุนนี้ได้มาแทนที่กองทุน LTF ความน่าสนใจของกองทุนประเภทนี้คือ กองทุนมีความหลากหลาย มีความยืดหยุ่น เพราะสามารถเลือกลงทุนได้หลายสินทรัพย์ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้  กองทุนอสังหาฯ กองทุนทองคำ เป็นต้น แต่มีระยะเวลาถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ นอกจากนี้กองทุน SSF ยังสามารถสับเปลี่ยนไปยัง SSF กองอื่นๆ ใน บลจ.เดียวกันได้ และการซื้อกองทุน SSF นี้ เหมาะกับการออมเงินระยะกลางถึงยาวเพราะต้องถือไว้ 10 ปีขึ้นไป

กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่เน้นการเก็บออมแบบระยะยาวเพื่อไว้ใช้จ่ายในช่วงชีวิตวัยเกษียณ โดยกองทุน RMF มีกองให้เลือกลงทุนทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาฯ กองทุนคำ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงของตัวเอง โดยผู้ลงทุนเองจะต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อวันแรก และต้องถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันกองทุน RMF ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี และการซื้อกองทุน RMF นี้เหมาะกับการออมเงินระยะยาวเพื่อตอบโจทย์วางการวางแผนเกษียณในอนาคตของคุณ

สรุปข้อแตกต่างของทั้ง 2 กองทุน ดังนี้

  • วัตถุประสงค์การออม / ลงทุน
    – SSF: เป็นการออมระยะกลางถึงยาว 10 ปี
    – RMF: เป็นการออมระยะยาวจนกว่าถึงวัยเกษียณ (อายุ 55ปี)
  • นโยบายการลงทุน
    – SSF: ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
    – RMF: ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
  • เกณฑ์ลดหย่อนภาษี
    – SSF: สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
    – RMF: สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมเงินลงทุนเพื่อเกษียณประเภทอื่นๆ
  • ระยะเวลาการลงทุน
    – SSF: 10 ปีแบบวันชนวัน
    – RMF: ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้เมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
  • ความต่อเนื่องในการลงทุน
    – SSF: ลงทุนเฉพาะปีที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
    – RMF: ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือเว้นการซื้อไม่เกิน 1 ปี
  • ความเหมาะสมของผู้ลงทุน
    – SSF: เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาว 10 ปีขึ้นไป และผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี
    – RMF: เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อยามเกษียณ และผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top