NOTE:
– ‘คลองบางหลวง’ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คลองบางกอกใหญ่” โดยคลองสายนี้จะมีเรือหางยาวบรรทุกนักท่องเที่ยวล่องผ่านเสมอ คลองบางหลวงจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำในกรุงเทพที่หลายคนยังไม่รู้จัก
– การเดินทางมาเยือนชุมชนคลองบางหลวง สามารถไปได้ 3 เส้นทางคือ ทางซอยจรัญสนิทวงศ์ 3, ทางถนนเพชรเกษม ซอย 20 และเพชรเกษม ซอย 28
– ไฮไลท์เด็ดที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนชุมชนคลองบางหลวงคือ “บ้านศิลปิน” ซึ่งนอกจากคาเฟ่ริมน้ำบรรยากาศไทยๆ แล้ว ยังมีโรงละคร ซึ่งเป็นเวทีแสดงหุ่นละครเล็กจากคณะคำนายให้เราได้ชมอีกด้วย
ลึกเข้าไปในซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 ยังมี “คลองบางหลวง” ชุมชุนริมน้ำที่ยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับบรรยากาศที่แฝงกลิ่นอายแบบไทยไทยให้คนรุ่นหลังได้ย้อนกลับไปเสพย์ไทยวิถีริมน้ำ โดยไม่ปั้นแต่งให้เสียอรรถรส จึงไม่แปลกหากเราจะตกหลุมเสน่ห์ของชุมชนริมคลองบางหลวงแห่งนี้เข้าอย่างจัง จนอดไม่ได้ที่จะนำมาฝากในวันนี้
เมื่อเดินลึกเข้าไปสุดซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 ก็จะพบกับ “ร้านก๋วยจั๊บน้ำข้นคลองบางหลวง” ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานข้ามคลองบางหลวงให้เราได้เติมพลังอิ่มท้องก่อนไปเดินเล่นอีกฟาก โดยก๋วยจั๊บร้านนี้ ถือได้ว่าเป็นก๋วยจั๊บร้านดังของที่นี่เลย ส่วนความอร่อยไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะน้ำซุปเข้มข้นที่หอมเครื่องเทศชวนท้องร้อง มาพร้อมเครื่องแน่นๆ ทั้งเลือด หมูชิ้นโต และเครื่องในสารพัดอย่างในชามใบโต ที่ขาดไม่ได้คือเส้นก๋วยจั๊บที่เหนียวนุ่มกำลังดี
ในร้านก๋วยจั๊บเจ้าดังนี้ยังมีของหวานให้เราล้างปากอีกด้วย นั่นก็คือข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน แต่จุดเด่นสำคัญของร้านก๋วยจั๊บก็คือบรรยากาศบ้านไม้ริมน้ำ ที่ให้เราทอดมองวิถีของคนคลองบางหลวงที่อยู่ฟากตรงข้ามได้ถนัดตา แถมบนผืนน้ำยังมีเรือหางยาวบรรทุกนักท่องเที่ยว ซึ่งโดดเด่นด้วยลวดลายไทยๆ กับสีสันจัดจ้าน ตัดกับผืนน้ำและบ้านไม้สีซีด ขณะเดียวกันก็มีเรือพายแร่ขายของตามแบบวิถีริมน้ำให้เราได้ชมกันอีกด้วย ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ ในกรุงเทพฯ
เมื่ออิ่มท้องกันแล้ว ก็ต่อกันด้วยการเสพย์บรรยากาศ โดยชุมชนทั้งสองฟากของแม่น้ำจะมีสะพานปูนเป็นจุดเชื่อมต่อ แน่นอนว่าวิวบนสะพานก็เป็นจุดขายที่เราต้องแวะเก็บภาพความทรงจำ นอกจากนี้วิวจากบนสะพานยังช่วยให้เรามองเห็นภาพกว้างของชุมชนแห่งนี้ได้ชัดเจนอีกด้วย
เรือนไม้ริมคลองที่มีชานบ้านทอดยาวต่อกันจนกลายเป็นแพขนาดใหญ่คือเสน่ห์ที่สื่อให้เราสัมผัสถึงวิถีริมน้ำของคนในชุมชน โดยเมื่อข้ามสะพานและเดินไปข้างหน้าจะพบกับ “OK บางหลวง Art Canal” ร้านจำหน่ายโปสการ์ดสีน้ำแฮนด์เมดให้เราจับจองเป็นที่ระลึก และหากเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นบ้านเรือนของชาวชุมชน ซึ่งบ้านบางหลังก็เปิดเป็นร้านอาหารตามสั่งและร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นที่ฝากท้องของชาวชุมชนและนักท่องเที่ยวอีกแห่ง โดยบ้านไม้ริมคลองหลายหลังยังแขวนอาหารปลาถุงโตสีสันจัดจ้าน ซึ่งตัดกับสีซีดจางของจนกลายเป็นภาพที่ชวนให้เรารู้สึกแปลกใจ แต่ก็ไม่ขัดตาเท่าไรนัก
ทางซ้ายมือจากเชิงสะพานคือเส้นทางที่จะพาเราไปพบกับไฮไลท์ของที่นี่ ทั้งแกลเลอรี่ ศ.จิตรกร, บ้านของเล่น, บ้านลืมนัด และบ้านศิลปิน เริ่มจากแกลเลอรี่ “ศ.จิตรกร” กับเสน่ห์รกๆ ตามภาษาศิลปิน ภายในบ้านเต็มไปด้วยภาพวาดสีน้ำและอุปกรณ์วาดภาพ ให้บรรยากาศที่แตกต่างจากแกลเลอรี่ทั่วไปที่มักแขวนภาพเรียงอย่างสวยงาม หน้าบ้านยังมีซุ้มของศิลปินวาดภาพเหมือนให้นักท่องเที่ยวไปนั่งเป็นแบบ เก็บภาพตัวเองในรูปแบบเส้นสายไปฝากคนที่บ้าน
ข้างๆ ซุ้มวาดภาพจะมีป้ายแขวนไว้ว่า “บ้านลืมนัด” ซึ่งจัดเป็นมุมนั่งเล่นที่ร่มรื่นด้วยไม้ประดับที่แขวนระย้า แม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าบ้านลืมนัดคืออะไรกันแน่ แต่จากชื่อเราจึงคิดเอาเองว่าคงเป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวได้พักขาหรือนั่งรอเพื่อนๆ ก็คงไม่ผิดนัก ถัดไปอีกนิดคือ “บ้านของเล่น” แน่นอนว่าภายในต้องอัดแน่นด้วยของเล่นโบราณที่บางชิ้นเราไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเจ้าของบ้านบอกกับเราว่า ของเล่นภายในบ้านจะมีทั้งของเล่นที่เก็บสะสมมายาวนาน แล้วนำมาวางโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม แต่อีกส่วนจะเป็นของเล่นโบราณที่ผลิตขึ้นใหม่ เอามาวางจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ข้างๆ กันเป็น “ร้านกาแฟบางหลวง” ที่เจ้าของบ้านแบ่งพื้นที่ออกมา ให้เราได้ซื้อน้ำจิบแก้กระหาย
สุดปลายทางคือ “บ้านศิลปิน” ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของชุมชนคลองบางหลวง โดยบ้านศิลปินแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ซื้อตั๋วสำหรับทัวร์ริมน้ำด้วยเรือหางยาวแล้ว ภายในบ้านศิลปินยังมีคาเฟ่สไตล์ไทยริมน้ำให้นักท่องเที่ยวได้พักเท้าอีกด้วย โดยลึกเข้าไปในตัวบ้านยังจัดเป็นชุ้มจำหน่ายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนชั้นสองของตัวบ้านก็จัดเป็นแกลเลอรี่ที่มาพร้อมวิวริมน้ำในมุมสูง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ให้เราลั่นซัตเตอร์รัวๆ แบบไม่มีเบื่อ
แต่จุดเด่นที่ทำให้เราประทับใจในบ้านศิลปินก็คือ ‘โรงละคร’ ซึ่งมีม้านั่งยาวเป็นแถวแบบโรงละครสมัยก่อน โดยช่วงเวลาที่เราไปเยือนนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีการซ้อมโขนของเด็กๆ ในชุมชน เราจึงได้นั่งชมการแสดงโขนเล็กๆ เคล้าบรรยากาศโรงละครเก่า เป็นบรรยากาศที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหนในกรุงเทพฯ อีกแล้ว
นอกจากนี้เรายังรู้มาอีกว่าบ้านศิลปินแห่งนี้ ยังเป็นสถานฝึกซ้อมของ ‘คณะคำนาย’ คณะหุ่นละครเล็กเลื่องชื่อที่มีประวัติยาวนาน โดยบ้านศิลปินเปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้หุ่นละครเล็กที่ยังไม่จางหายให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ จึงไม่แปลกหากภายในบ้านศิลปินจะมีหุ่นกระบอกให้เราได้ชมมากมาย แถมยังมีการจัดแสดงหุ่นละครเล็กให้ได้ชมอีกด้วย สำหรับบ้านศิลปินจะเปิดทุกวัน โดยจันทร์ – อังคาร เปิด 10.00 – 18.00 น., พุธ – พฤหัสบดี 09.00 – 18.00 น. และเสาร์ – อาทิตย์ 09.00 – 19.00 น.
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development