ก่อนจะไปทำความรู้จักกับคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) เราก็ต้องเท้าความถึง ภาวะโลกร้อน (Global warming) กันก่อน
ซึ่งตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเราเรียกว่า ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน,ไนตรัสออกไซด์, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ โดยภาคประชาชนเราก็จะรณรงค์ให้ประหยัดไฟ, ลดการผลิตพวกถุงพลาสติก หรือวัสดุใช้แล้วทิ้งกันอย่างมาก และในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดใหญ่ ก็มีมาตรการช่วยลดภาวะโลกร้อนมากมาย หนึ่งในนั้นคือ คาร์บอนเครดิต และ ตลาดคาร์บอนเครดิต ที่เราจะพูดถึงในหัวข้อนี้กัน
ซึ่งทั้ง 2 คำนี้เป็นกลไกที่เชื่อมโยงกันอยู่ เรียกว่ามาคู่กันเลยเพราะถ้าไม่มีคาร์บอนเครดิต ก็ไม่มีตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นนั่นเอง เรามาลองทำความเข้าใจแบบสรุปง่ายๆ ไปพร้อมกัน
- คาร์บอนเครดิต คือ สิทธิที่บุคคลหรือองค์กรได้รับจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอนฟรุตพรินต์) ในแต่ละปี ซึ่งหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปริมาณคาร์บอนที่เหลือก็จะถูกนำมาตีราคา และสามารถนำไปจำหน่ายในรูปแบบคาร์บอนเครดิต ให้กับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการได้
- ตลาดคาร์บอนเครดิต คือ พื้นที่กลางสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อ–ขาย คาร์บอนเครดิต ถือเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตเองก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ
- ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ: ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลผูกทางกฏหมาย หากธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษชัดเจน และการตลาดภาคบังคับจะเกี่ยวข้องกับการซื้อขายคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโตด้วยเช่นกัน
- ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: เป็นตลาดสำหรับเอกชน หรือธุรกิจที่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ ไม่ผูกพันกับกฏหมาย และโดยสมาชิกสามารถตั้งเพดาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งมีผลดีต่อภาคธุรกิจ SMEs ที่สนใจในพลังงานสะอาด และเริ่มต้นลงทุนเพื่อมุ่งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเครดิตคาร์บอนได้ในอนาคต
เมื่อเราได้รู้จักกับ คาร์บอนเครดิต และ ตลาดคาร์บอนเครดิต กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาดูกันว่าทำไมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญ และกลายเป็นการลงทุนที่น่าจับตามองในอนาคต
- ประโยชน์ระยะสั้น คือ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกจะได้ร่วมมือกันหยุดดันเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สูงขึ้น มีการส่งเสริมการปลูกป่า ทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนในอีกทางหนึ่ง
- ประโยชน์ระยะยาว: ทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาชนจะช่วยกันมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้น โดยภาคธุรกิจจะขยายการลงทุนให้กลุ่มพลังงานทดแทน, พลังงานสะอาด, เทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการส่งเสริมภาคเกษตรกรของชุมชน สนับสนุนการปลูกป่าเพื่อสร้างพื้นที่การดูดซับคาร์บอนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ A ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซได้ ก็จะเลือกตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากสวนของชาวบ้านเพื่อนำมาชดเชยคาร์บอนเครดิตของธุรกิจตัวเอง
จากทั้งหมดที่กล่าวมา คาร์บอนเครดิต หากมองด้านการลงทุนในตอนนี้ อาจมีผลประโยชน์ที่จะดูห่างตัวสำหรับกลุ่มคนพนักงานออฟฟิศ, นักศึกษา หรือเหล่า SMEs อยู่พอสมควร แต่บอกเลยว่าไม่ห่างไกลในอนาคต เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันมากกว่า 7 พันล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ถ้าคุณเริ่มศึกษาแนวทางการซื้อขายให้เข้าใจตั้งแต่วันนี้ วางแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงสร้างพื้นที่ผลิตพลังงานสะอาดเผื่อโลกอนาคต อาจเป็นการสร้างรายได้จากอากาศได้ง่ายกว่าที่เคย ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/
แต่ที่ผลลัพธ์ที่ทุกคนจะได้ตอนนี้คือ การลดภาวะโลกร้อน ที่หากรุนแรงมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแบบไม่แบ่งกลุ่ม ไม่แบ่งชนชั้น เป็นโดมิโน่ของวิกฤติการณ์อย่างแท้จริง
ดังนั้นการร่วมมือกันเพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นผลดีสำหรับทุกคนบนโลกนี้