NOTE:
– ในปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์กว่า 20.2 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานในช่วงอายุ 15-59 ปี 14.4 ล้านคน
– จากการสอบถามพนักงานกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน
ที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 60 มีอาการบาดเจ็บจากการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
– การตั้งค่าความละเอียดของเมาส์ (DPI) มีผลโดยตรงต่ออาการเมาส์ซินโดรม ทั้งนี้โดยปกติค่า DPI ที่เหมาะสมต่อการใช้งานจะอยู่ที่ 800 DPI
“Mouse Syndrome” (เมาส์ซินโดรม) ถือเป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือนในยุคที่เทคโนโลยีเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ในการทำงานที่ต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และโต๊ะทำงานแทบจะตลอดเวลา จึงทำให้อาการที่ว่านี้มักเกิดขึ้นกับเหล่ามนุษย์ออฟฟิศรวมไปถึงบรรดาผู้ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องวันละหลายๆ ชั่วโมง
ทั้งนี้อาการส่วนใหญ่ของเมาส์ซินโดรมมักจะเกิดขึ้นบริเวณข้อมือที่ถือเป็นจุดศูนย์รวมของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกับมือและนิ้ว ซึ่งถ้าหากเราใช้เมาส์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นหดเกร็งในท่าเดิมๆ จนเกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้
และด้วยเหตุผลข้างต้นเหล่านี้เองจึงก่อให้เกิดการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาของนักศึกษาสาขาโปรดักดีไซน์ชาวเกาหลีที่มีชื่อว่า “Baek” ในการรีดีไซน์ของเมาส์ที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันเสียใหม่ให้ดูน่าใช้งานไปพร้อมๆ กับช่วยบรรเทาอาการเมาส์ซินโดรมที่จะเกิดขึ้น
“CONE” เมาส์ไร้สายที่มีหน้าตาแบบเดียวกับชื่อจึงถือกำเนิดขึ้นจากการหาโซลูชั่นของปัญหา โดย CONE จะถูกลดทอนความซับซ้อนให้เหลือเพียงสกอร์บาร์สำหรับเลื่อนขึ้น–ลงและปุ่มกดที่ใช้แทนการคลิ้กซ้าย–ขวาภายใต้รูปทรงกรวยเพียงเท่านั้น โดยหลายคนที่เห็นครั้งแรกต่างเกิดคำถามว่าการใช้เมาส์รูปทรงกรวยจะทำให้เรารู้สึกสบายมือไปมากกว่าเมาส์แบบเดิมในปัจจุบันได้อย่างไร แต่จากการศึกษาของ Baek พบว่า ตามหลักสรีระวิทยานั้น ธรรมชาติของมือมนุษย์จะมีการขดเป็นวงกลมโดยปกติ ฉะนั้นการออกแบบเมาส์ให้มีรูปทรงกรวยจึงเป็นการออกแบบที่ล้อไปตามสรีระธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งทำให้มือของเราไม่ต้องหด–เกร็งอยู่ในท่าที่ไม่เป็นธรรมชาตินั่นเอง
นอกเหนือจากรูปร่างที่แตกต่าง การใช้งานของ CONE นั้นเรียกได้ว่าสามารถทำงานได้เช่นเดียวกับเมาส์ไร้สายโดยทั่วๆ ไป โดยมีเซนเซอร์อยู่บริเวณด้านล่างและอาศัยการเชื่อมต่อผ่านทางบลูทูธกับคอมพิวเตอร์ในการทำงาน
นับเป็นโปรเจกต์สุดสร้างสรรค์ที่ได้นำเอาการดีไซน์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างอาการเมาส์ซินโดรมได้เป็นอย่างดี ชาว Gen C Blog คนไหนที่เริ่มมีอาการปวดข้อมือจากการนั่งทำงานนานๆ ในแต่ละวันก็อย่าลืมหาเวลาผ่อนคลายกล้ามเนื้อหรือพักสายตาจากหน้าจอกันดูสักนิด เพื่อที่จะได้ไม่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมหรือเมาส์ซินโดรมเรื้อรังตามมานั่นเองครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development