ขอแสดงความยินดีอีกครั้งสำหรับทุกคน ทุกกลุ่ม ที่กฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ได้ผ่านการพิจารณาและเตรียมมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งก่อนที่เราจะได้เห็นประกาศอย่างเป็นทางการ เรามาทำความรู้จักกับกับ สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่แก้ไขให้ บุคคลสองคน (ทุกเพศ) สมรสกันได้ จากเดิมที่ระบุเป็นชาย-หญิงเท่านั้น โดยที่คู่สมรสนี้สามารถมีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินและรับบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้อง
เรามาดูกันว่า ร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่ระบุให้คนสองคนทุกเพศแต่งงานกันได้ โดยที่เนื้อหาจะครอบคลุมด้านไหนบ้างมาดูกัน
- บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย’
- ‘คู่สมรส’ จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น ‘คู่สมรส’ | ชาย-หญิง ปรับเป็น ‘บุคคล’| บิดา-มารดา ปรับเป็น ‘บุพการี’
แล้วสิทธิ์ในฐานะคู่สมรสในร่างกฎหมายเท่าเทียม ครอบคลุมด้านไหนบ้าง?
- ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการหมั้น, สิทธิจดทะเบียนสมรส, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ เป็นต้น
- ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
- คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- มีการปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)
และการเดินทางของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของประเทศไทย ถือเป็นอีกก้าวสำคัญสู่สังคมเท่าเทียม โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกใน ASEAN (อาเซียน) และเป็นแห่งที่ 3 ของทวีปเอเชีย และยังเป็นแห่งที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมรองรัลความรักของทุกคนอย่างเท่ากัน
ขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับก้าวสำคัญในครั้งนี้~