NOTE:
– “Platform Screen Doors” หรือ “ประตูกั้นชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้า” แห่งแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นที่สถานีรถไฟใต้ดินเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ในปี 1961 หรือราวๆ 57 ปีก่อน
– “ญี่ปุ่น” ถือเป็นประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงไปในรางรถไฟสูงที่สุดในโลกเฉลี่ย 100 คนต่อปี
– “ประเทศไทย” มีการติดตั้ง “Platform Screen Doors” ครั้งแรกที่รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยาม
เชื่อว่าคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำคงต้องเคยสังเกตเห็นเจ้าประตูกั้นที่อยู่บริเวณชานชาลาของบางสถานีกันใช่ไหมครับ แล้วชาว Gen C Blog สงสัยหรือไม่ว่าเจ้าประตูกั้นชานชาลาที่ว่านี้มีหน้าที่อะไรนอกเหนือจากการเอาไว้กั้นชานชาลาบ้าง วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกันครับ
“Platform Screen Doors” (PSDs) หรือ “ประตูกั้นชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้า” เป็นประตูที่เอาไว้ใช้กั้นระหว่างบริเวณที่เป็นรางของรถไฟฟ้ากับชานชาลาในสถานี ส่วนใหญ่มักติดตั้งพร้อมกับการสร้างสถานีรถไฟฟ้าหรือต่อเติมในภายหลัง โดยประตูกั้นชาลาแห่งแรกของโลกอยู่ในประเทศรัสเซีย ซึ่งขึ้นชื่อได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถานีรถไฟงดงามดุจพระราชวัง (Moscow Metro)
ทั้งนี้ PSDs จะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือ “PSDs แบบเต็มความสูง” เป็นประตูกั้นชานชาลาที่มีความสูงเท่ากับขบวนรถไฟฟ้า มักถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ข้อดีของประตูประเภทนี้คือจะช่วยลดทอนเสียงดังรบกวนของขบวนรถได้ในระดับหนึ่ง และ “PSDs แบบครึ่งความสูง” เป็นประตูกั้นชานชาลาที่มีความสูงเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของขบวนรถไฟฟ้า
โดยประโยชน์หลักๆ ที่ต้องติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเอาไว้ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้เนื่องจากในบางภูมิประเทศจะมีอากาศที่ค่อนข้างเย็นจัด การติดตั้งประตูกั้นชานชาลาจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อากาศเย็นในบริเวณสถานี ถ่ายเทไปยังบริเวณรางรถไฟฟ้าซึ่งจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานตามมาได้
นอกจากนี้ในบางประเทศอย่าง “ประเทศญี่ปุ่น” การติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมของประชากรเป็นหลัก โดยผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่าในแต่ละปีประชากรกว่า 100 คนในประเทศญี่ปุ่นจบชีวิตลงด้วยการกระโดดลงไปในรางให้รถไฟฟ้าทับ ซึ่งนอกจากจะเกิดความสูญเสียตามมาแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางและทำให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ ต้องเดินทางล่าช้าเนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกด้วย
ส่วนในประเทศไทยนั้นประตูกั้นชานชาลาถูกติดตั้งขึ้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยามเป็นแห่งแรก โดยมี 8 สถานีที่เหลืออย่าง สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีพญาไท สถานีชิดลม สถานีอโศก สถานีพร้อมพงษ์ สถานีอ่อนนุช สถานีศาลาแดง และสถานีช่องนนทรี เป็นสถานีที่ถูกติดตั้งประตูกั้นชานชาลาในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาในรถไฟฟ้าใต้ดิน และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ อีกด้วย
ถือได้ว่าการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาบริเวณสถานีรถไฟฟ้าจะมีประโยชน์ทั้งในแง่ของการช่วยลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดมาจากทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจได้เป็นอย่างดี รู้แบบนี้คงหายสงสัยว่าทำไมถึงต้องมีประตูสองชั้นก่อนที่จะเข้าไปยังตัวขบวนรถไฟฟ้าแล้วกันใช่ไหมครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development