ที่มาของสวนเบญจกิติ

ที่มาของสวนเบญจกิติ

ที่มาของสวนเบญจกิติ

สวนเบญจกิติ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ

สวนเบญจกิติ สร้างแทนโรงงานยาสูบซึ่งย้ายออกไปนอกกรุงเทพมหานคร โดยที่สวนตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ข้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนถนนรัชดาภิเษก โดยตอนนี้มีกรุงเทพมหานครเป็น ผู้ดำเนินการดูแลสวน

นอกจากนี้ สวนเบญจกิติ ยังได้รับพระราชทานชื่อสวน จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่ง เสด็จฯ มาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2547

ในช่วงแรก สวนเบญจกิติ ถูกพัฒนาโดยกรมธนารักษ์ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ต่อมาใน พ.ศ. 2557 กองทัพบกได้เข้าร่วมกับกรมธนารักษ์เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสวนป่าสามารถเชื่อมต่อกับสวนเบญจกิติเดิม

สวนเบญจกิติ กับ สวนเบญจสิริ

เมื่อเราพูดถึงชื่อสวนสาธารณะกลางกรุงเทพฯแล้ว ชื่อของ สวนเบญจกิติ กับ สวนเบญจสิริ จะเกิดขึ้นมาในหัวเป็นสวนแรก ๆ แน่นอน และหลาย ๆ ครั้งก็เชื่อได้เลยว่าต้องมีคนสับสนระหว่างทั้ง 2 สวนแน่นอน ด้วยชื่อที่คล้ายกัน และมีพยางค์เท่ากันอีกต่างหาก เพื่อให้จำง่าย ๆ

สวนเบญจกิติ จะอยู่ใกล้กับ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก
ส่วนสวนเบญจสิริ หรือถ้าให้เรียกอย่างถูกต้องคือ อุทยานเบญจสิริ นั้นอยู่ใกล้กับศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม บนถนนสุขุมวิท

แต่ถึงอย่างไร ทั้งสองสวนก็อยู่ภายใต้ความดูแลของ กรุงเทพมหานคร ทั้งคู่

สวนเบญจกิติมีกี่ส่วน

สวนเบญจกิติมีกี่ส่วน

สวนเบญจกิติ นั้นมีขนาดพื้นที่ค่อนข้างใหญ่มาก โดย ณ ตอนนี้มีพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสวนน้ำ ที่เปิดใช้งานตั้งแต่พ.ศ. 2547 และส่วนสวนป่าซึ่งโรงงานยาสูบได้มอบพื้นที่ให้ภายหลังในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ และเปิดให้ใช้งานเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ยัง อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และสกายวอล์ก อีกด้วย

ส่วนสวนน้ำ

สวนเบญจกิติเดิม

สวนเบญจกิติส่วนสวนน้ำ หรือ สวนเบญจกิติเดิม นั้นคือส่วนที่อยู่ติดกับถนนรัชดาภิเษกถูกออกแบบให้เป็นสวนน้ำบนเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ โดยมีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีพื้นที่สีเขียวโดยรอบ มีทางเดินให้คนได้มาเดินเล่น ออกกำลังกาย และมีทางจักรยาน

เบื้องต้น สวนเบญจกิติส่วนสวนน้ำ นี้ถูกออกแบบให้เป็นแหล่งศึกษาพรรณไม้น้ำจืด มีต้นไม้ในโครงการกว่า 8 พันต้น และพันธุ์ไม้หายากกว่า 350 ชนิด และสิ่งมีชีวิตในบึงน้ำจืด ซึ่งรองรับน้ำได้ถึง 128,000 ลบ.เมตร.น้ำในบึงนั้น สามารถนำมาใช้สำหรับใช้ดูแลสวนและทำหน้าที่รับเอาน้ำที่ระบายไม่ทันมากักเก็บและช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำจากคลองไผ่สิงโต

การออกแบบสวนเบญจกิตินั้นเลือกใช้วัสดุที่ให้น้ำท่วมได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษวัสดุจากการรื้อถอนอาคาร สวนเบญจกิติได้นำเศษวัสดุที่เกิดจากการรื้อถอนอาคารนำมาใช้ในการก่อสร้างด้วยส่วนหนึ่ง เช่น อิฐโครงสร้างอาคารนำมาใช้ในการทำระบบทางเดินน้ำ หรือ เศษคอนกรีต นำมาทุบให้เล็กเหมือนหินธรรมชาติ เพื่อทำให้ดินแน่น และรองรับน้ำไหลบ่าบนผิวดินป้องกันการกัดเซาะ

และในการก่อสร้างสวนเบญจกิตินั้น สวนจะเก็บต้นไม้เดิมไว้ทั้งหมด และยังเพิ่มต้นไม้ที่ลง โดยใช้พรรณไม้ที่เป็นพืชท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการอนุรักษ์พรรณไม้พื้นถิ่นนและช่วยลดภาระการดูแลต้นไม้ เพราะต้นไม้เหล่านี้สามารถเติบโตได้เองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สวนป่าเบญจกิติ

หลังจากที่ สวนเบญจกิติ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2557 กรมธนารักษ์ร่วมกับกองทัพบกก็เริ่มพัฒนาสวนป่า ขึ้นเพื่อให้เป็นสวนป่ากลางเมือง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสวนเบญจกิติส่วนเดิม โดยต้องการให้เป็น “ต้นแบบ” ของสวนสาธารณะเชิงนิเวศ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

โดยสวนป่าเบญจกิติ เปิดให้บริการ วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ภายในสวนป่าเบญจกิติ จะออกแบบโดยคำนึงถึงเรื่องระบบนิเวศเป็นหลัก มีจุดเด่นคือการออกแบบบึงน้ำ 4 บึง แต่ละบึงจะแบ่งโซนปลูกพรรณไม้ที่แตกต่างกัน มีเกาะต้นไม้กลางบึงทั้ง 4 บึง ซึ่งได้แนวคิดจากภูมิปัญญาชาวสวนที่ใช้ร่องสวนเพื่อยกรากต้นไม้ให้สูงกว่าน้ำใต้ดิน เมื่อมีน้ำอยู่รอบ ๆ เกาะก็ทำให้น้ำซึมเข้าสู่ดิน รากต้นไม้สามารถดูดซับน้ำ ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี

อาคารสิ่งปลูกสร้าง

ภายในสวนเบญจกิติ นอกจากพื้นที่สีเขียว ภายในยังมีอาคารต่าง ๆ เช่น อาคารศูนย์กีฬา และอัฒจันทร์กลางแจ้งที่รองรับได้ 15,000 ที่ ซึ่งตัวที่นั่งของอัฒจันทร์มีการแทรกต้นไม้อยู่ด้วย เพื่อลดความร้อน

หรือจะเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายในอาคารจะเน้นไปที่การจัดแสดง พระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านที่เกี่ยวกับป่าไม้ มีการรวบรวมพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวกับพระนามของพระองค์ เช่น กล้วยไม้กิติยากร และภายในยังรองรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุม หรือ เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการอื่น ๆ ได้อีกด้วย

การออกแบบอาคารใหม่นั้น ทางสวนเบญจกิติ ได้นำเอาอาคารของโรงงานยาสูบเก่ามาปรับปรุงและคงโครงสร้างหลักของอาคารเดิมไว้ เพื่อรักษาสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

สกายวอล์ก สวนเบญจกิติ

สำหรับ “สกายวอล์ก” ที่หลายคนรู้จักนั้น เป็นสะพานลอยฟ้าที่เชื่อมไปยังแต่ละบึง สามารถเห็นสวนจากมุมสูงได้ นอกจากนี้สะพานลอยฟ้ายังเชื่อม 2 สวนสาธารณะด้วยกัน คือ “สวนเบญจกิติ” กับ “สวนลุมพินี” ไว้ด้วยกัน ทางเดินของสกายวอล์ก ออกแบบให้มีทางลาดเหมาะกับผู้พิการและผู้สูงวัย ซึ่งตลอดระยะทางเดินคุณจะสัมผัสได้กับพรรณไม้นานาชนิด และทัศนียภาพของตึกในเมือง แถมในช่วงเย็น สกายวอล์กจะเปิดไฟส่องสว่าง ให้คนใช้งานได้อย่างปลอดภัย

บริการ Dog Park ของสวนเบญจกิติ

Dog Park สวนเบญจกิติ

 

วันที่ 15 กันยายน 2565 สวนเบญจกิติ เปิดให้บริการ Dog Park หรือ สวนน้องหมา ให้ประชาชนและสุนัขใช้พื้นที่สวน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว โดย Dog Park ตั้งอยู่ตรงข้ามบริเวณลานจอดรถมาจนถึงประตู 1 ทางสวนเบญจกิติฝั่งรัชดาและ เปิดให้บริการเวลา 05.00-21.00 น.

สำหรับการใช้สวนน้องหมา ภายในสวนเบญจกิติ มีข้อกำหนด 3 ข้อหลัก ได้แก่

1.สุนัขทุกตัวต้องได้รับการฉีดวัคซีน

2.ต้องใส่สายจูงสุนัขและเจ้าของต้องจูงไว้เสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวสุนัขเอง

3.ต้องลงทะเบียนให้สุนัขก่อนพาเข้าสวน ที่ประตู 1 และประตู 2 หรือทาง line id : @701uemys โดยลงทะเบียนสุนัข 1 ตัวต่อ 1 รหัส และแสดงหลักฐานการยืนยันการลงทะเบียนให้ เจ้าหน้าที่ รปภ.ก่อนเข้าใช้บริการ

4.เจ้าของสุนัขต้องพกถุงอึ และเก็บทิ้งให้เรียบร้อย โดยทางสวนจะมีคอกให้สุนัขขับถ่าย มีถุงเก็บอุจจาระ รวมถึงถังขยะไว้ให้บริการด้วย

การที่สวนเบญจกิติ ให้บริการ Dog Park นั้นนับเป็นสวนสาธารณะที่ 4 ถัดจากสวนบึงหนองบอน, สวนวัชราภิรมย์ และสวนเทียนทะเลพัฒนาพฤกษาภิรมย์ ที่เปิดให้บริการ Dog Park ก่อนหน้านี้

การเดินทางมาสวนเบญจกิติ

 การเดินทางมาสวนเบญจกิติ

สวนเบญจกิติ ตั้งอยู่ระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนดำรงพิทักษ์ เปิดทำการทุกวัน เวลา 05.00 – 21.00 น.

ถ้าเดินทางมาด้วย รถยนต์ส่วนตัว ประตูสำหรับจอดรถจะเปิดเวลา 05.00 – 09.00 น. และช่วงบ่ายเวลา 16.00 – 21.00 น.

ถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT โดย BTS ลงที่สถานีอโศก และ MRT สถานีสุขุมวิทและสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วเดินมาประมาณ 400 เมตร

ปล.ถ้ามาจาก MRT สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประตูทางเข้าสวนจะอยู่ทางฝั่งที่เป็นที่จอดรถ

ท้ายนี้ สวนเบญจกิติ เป็นมากกว่าสวนสาธารณะที่มาเดินเล่นหรือออกกำลังกายเท่านั้น แต่สวนเบญจกิติยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ม แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนสำหรับทุกคนอีกด้วย

Related Posts

Leave a Comment

Scroll to Top