ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็มักจะทำให้เหงื่อออกง่าย จนรู้สึกร้อนไปหมด บางคนนอนอยู่เฉยๆ ในห้องก็ยังร้อนจนถึงขนาดที่ว่าพัดลมเป่าตัวเดียวก็ไม่พอ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการเปิดแอร์แล้วปรับแอร์ให้เย็นเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหลายคนก็ยังรู้สึกว่าลดอุณหภูมิลงมาจนสุดแล้วก็เย็นไม่ทันใจสักที ที่เป็นแบบนี้เพราะคุณปรับโหมดแอร์ผิดนั่นเอง
โหมดบนรีโมตแอร์มีอะไรบ้าง แต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร
ปัญหาใหญ่ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าปรับแอร์ให้เย็นไม่ได้ดั่งใจกันเลย ก็เป็นเพราะไม่รู้จักโหมดต่างๆ ที่อยู่บนรีโมตแอร์ เกือบทุกคนทำเป็นแค่ปรับอุณหภูมิขึ้นลงอย่างเดียวเท่านั้น อยากให้หนาวก็ปรับลงไปที่ 18 องศา อยากให้อุ่นหน่อยก็ปรับไปที่ 26 องศา แต่จริงๆ แล้วในรีโมตแอร์มีโหมดการใช้งานแอร์แบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับขนาดของห้องและอุณหภูมิภายในห้องมากถึง 4 โหมดด้วยกัน ได้แก่
1.ปรับแอร์ให้เย็นด้วยโหมด Auto
น่าแปลกที่โหมดนี้เป็นโหมดที่คนไม่ค่อยนิยมใช้กันเท่าไร ทั้งที่มันจะช่วยปรับแอร์ให้เย็นแบบอัตโนมัติได้เลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเวลากดโหมดนี้แล้วรีโมตจะขึ้นเป็นค่าอะไรไม่รู้ที่ปรับอุณหภูมิไม่ได้ หลายคนก็เลยอาจจะไม่ค่อยถูกใจสิ่งนี้มากนักเพราะกลัวว่าแอร์จะเย็นไม่ทันใจนั่นเอง แต่จริงๆ แล้วโหมดนี้จะช่วยตรวจดูว่าอุณหภูมิในห้องเป็นอย่างไร ชื้นเกินไปหรือไม่ หรือแห้งเกินไป เพื่อที่มันจะปรับเป็น Dry หรือ Cool ตามความเหมาะสม ยิ่งถ้าเป็นแอร์รุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีดีๆ จะสามารถตรวจจับได้ด้วยว่า ตอนนี้ภายในห้องมีคนอยู่เท่าไร ทำกิจกรรมอะไรกันอยู่บ้าง เพื่อที่จะช่วยปรับแอร์ให้เย็นตามความเหมาะสมนั่นเอง
2.ปรับแอร์ให้เย็นด้วยโหมด Cool
โหมดนี้เป็นโหมดที่ควรใช้มากที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นโหมดที่สามารถปรับแอร์ให้เย็นได้ดั่งใจจริงๆ เมื่อกดปุ่มนี้ปุ๊บ แล้วกดอุณหภูมิตัวเลขตามที่ต้องการ เครื่องปรับอากาศก็จะพ่นลมเย็นๆ ออกมาตามที่เราตั้งไว้เลย อย่างไรก็ตาม หากใช้โหมดนี้ไปแล้วสักพัก แต่แอร์ยังไม่ได้เย็นอย่างที่ต้องการ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าแอร์สกปรก น้ำยาแอร์หมด หรือแอร์เก่ามาก ซึ่งก็อาจจะต้องตามช่างมาช่วยดูว่าเกิดจากอะไร เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ นอกจากแอร์จะไม่เย็นแล้วยังเปลืองค่าไฟแบบน่าเจ็บใจด้วย
3.ปรับแอร์ให้เย็นด้วยโหมด Dry
คิดว่าน่าจะมีคนเคยลองกดโหมดนี้ดูเล่นๆ เหมือนกันเพื่อทดลองว่ามันคืออะไร แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลอะไรมาก หรืออาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันช่วยปรับแอร์ให้เย็นขึ้นสักเท่าไรเลย แต่จริงๆ แล้วโหมดนี้จะช่วยทำให้อากาศในห้องแห้งมากขึ้น สำหรับห้องที่มีความชื้นมากเกินไป ส่วนใหญ่แล้วโหมดนี้จะจำเป็นก็ต่อเมื่อภายในห้องนั้นๆ ของคุณเก็บของมีค่าที่ต้องป้องกันความชื้นจะทำลายได้ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม กล้องถ่ายรูป หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่ถ้าใช้กันในบ้านธรรมดา ใช้แค่โหมดออโต้หรือ Cool ก็พอแล้ว
4.ปรับแอร์ให้เย็นโหมด Fan
เชื่อว่าโหมดนี้ต้องทำให้หลายคนสับสนกับโหมด Cool แน่นอน แต่จริงๆ แล้วเมื่อไรก็ตามที่คุณเปิดการทำงานโหมด Fan ขึ้นมา คอมเพรสเซอร์ของแอร์จะถูกตัดการทำงานไปเลย น้ำยาแอร์ที่เป็นตัวทำความเย็นก็จะถูกตัดการทำงานไปด้วย แต่ลมแอร์จะยังถูกเป่าออกมาจากตัวเครื่อง ซึ่งก็จะคล้ายๆ การทำงานโดยพัดลมนั่นเอง โหมดนี้จะเอาไว้ใช้ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าแอร์มีกลิ่นอับหรือกลิ่นแปลกๆ รวมถึงการเห็นน้ำหยดลงมาจากแอร์ ซึ่งอาจจะเกิดจากการทำความเย็นมากเกินไปจนทำให้เกิดน้ำแข็งขึ้นภายในแอร์
หลายคนตั้งโหมด Fan ไว้เพราะคิดว่าจะช่วยเป่าแอร์ให้เย็นเร็วมากขึ้น (เหมือนเปิดพัดลมพร้อมกับแอร์) แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกว่าปรับแอร์ให้เย็นเท่าไรก็ไม่ได้สักที ให้ลองมาดูก่อนว่าเปิดโหมดนี้ไว้หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ให้เปลี่ยนเป็น Cool แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปดูแล้วว่าเกิดจากอะไรได้อีก
5.ปรับแอร์ให้เย็นโหมด Heat
โหมดนี้จะมีเฉพาะในแอร์รุ่นใหม่เท่านั้น และไม่ควรที่จะไปแตะต้องมันเด็ดขาด เพราะมันคือโหมดทำความร้อนที่จะช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในห้องเราให้อุ่นมากขึ้น ส่วนใหญ่มักจะใช้กันในประเทศที่มีอากาศหนาวหรือมีหิมะตก แต่ก็อาจจะมีในแอร์ที่นำเข้ามาจากแบรนด์ฝั่งยุโรปได้บ้าง ส่วนใหญ่ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปพระอาทิตย์ ถ้ากดเมื่อไรก็เตรียมตัวถอดเสื้อได้เลย
รักษารีโมตแอร์อย่างไร ไม่ให้พังก่อนเวลาอันควร
รีโมตแอร์ถือเป็นสิ่งที่ความสำคัญอย่างมากในการปรับแอร์ให้เย็น ถึงแม้ว่าถ้ามันพังจริงๆ จะสามารถซ่อมหรือซื้อมาเปลี่ยนได้ไม่ยากนัก แต่ก็ไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องเสียเงินไปกับส่วนนี้ก่อนที่จะถึงเวลาอันควร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถดูแลรักษารีโมตแอร์ของเราได้ดีกว่านั้น มาดูกันดีกว่าว่าเราควรดูแลเจ้ารีโมตนี้อย่างไร แล้วพฤติกรรมอะไรที่ควรเลิกทำบ้าง
1.อย่าโยนรีโมตแอร์
ถ้าหากว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่หยิบรีโมตแอร์มาปรับแอร์ให้เย็นเสร็จแล้ว ก็โยนลงเตียงแล้วทิ้งตัวเองลงเตียงข้างๆ รีโมตแอร์ด้วยเป็นประจำ พฤติกรรมนี้ต้องเลิกทำได้แล้ว เพราะเซ็นเซอร์หรืออะไรบางอย่างในรีโมตอาจถูกกระแทกจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ และถ้าหากว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้น เช่น เตียงของคุณเด้งมากเกินไปจนทำให้รีโมตแอร์กระเด็นออกจากเตียงลงไปกองอยู่ที่พื้น หรือถึงขั้นหล่นแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ ถ่านกระเด็นออกมาหมด แบบนั้นยิ่งมีโอกาสที่จะทำให้รีโมตพังเร็วขึ้นอีกมาก จริงอยู่ว่าถ้ารีโมตพัง คุณก็ยังแตะๆ เพื่อเปิดแอร์ที่ตัวเครื่องได้ แต่จะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิอะไรได้เลยจนกว่าจะซื้อมาใหม่
2.ถอดถ่านรีโมตออกบ้าง
ถ้าหากว่าคุณมีธุระที่ต้องออกไปต่างจังหวัดบ่อยๆ หรือไม่ได้อยู่ในห้องที่มีแอร์ตัวนั้นเลยเป็นเวลานานๆ ก็ควรจะถอดถ่านออกมาวางไว้ข้างนอกแทน เพราะถ้าหากว่าปล่อยให้ถ่านหมดอายุอาจจะทำให้มีของเหลวบางอย่างไหลออกมาจนถึงขั้นที่ทำให้รีโมตแอร์ของคุณเสียหายได้ อันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่รีโมตแอร์เท่านั้น แต่รวมถึงรีโมตของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ด้วยที่อาจจะเสียหายได้เช่นกัน ส่วนใครที่อยู่แบบวันเว้นวัน หรือไปไม่เกิน 1 อาทิตย์ ถ้าเป็นแบบนี้ใช้งานตามปกติ ไม่ต้องถอดออกเลยจะดีกว่า เพราะการถอดถ่านบ่อยๆ อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่รีโมตแอร์ด้วย
3.อย่าตีรีโมตแอร์
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยฟาดหรือเคาะรีโมตแอร์กับมือแรงๆ แน่ เวลาที่มันกดไม่ค่อยติด หรือปรับแอร์ให้เย็นไม่ได้อย่างที่ต้องการ จะบอกว่าการเคาะรีโมตแอร์นี่ถือเป็นการแก้ปัญหาแบบสากลที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลย เพราะถ้าฟาดแรงเกินไป หรือเอาไปเคาะกับวัตถุแรงๆ ก็อาจทำให้เซ็นเซอร์ภายในเสียหายได้ไม่ต่างกับตกจากที่สูงเลย ถ้าหากว่ามันเปิดไม่ติด ใช้งานได้ไม่ดีจริงๆ ให้ลองเปลี่ยนถ่านดูก่อน และถ้าหากยังไม่ดีขึ้นก็ให้ลองหมุนๆ ที่ขั้วถ่านดู อาจจะเกิดจากขดลวดหรืออะไรบางอย่างหลวมก็เป็นได้ ใครที่มีคนสูงอายุในบ้านชอบเคาะรีโมตแอร์บ่อยๆ เวลาไม่ได้ดั่งใจต้องรีบห้ามเด็ดขาด
4.อย่าให้รีโมตแอร์โดนน้ำ
หลายคนเห็นข้อนี้แล้วก็คงจะขำว่าบอกทำไม มันเป็นเรื่องที่ต้องรู้อยู่แล้ว แต่เชื่อมั้ยว่ามีหลายคนที่เปิดแอร์แล้วเอารีโมตวางไว้ที่โต๊ะนั่งเล่น แล้วเอาขนมกับน้ำมาวางไว้บนโต๊ะเดียวกัน ผลก็คือน้ำที่ละลายออกมาจากแก้วก็ไหลเข้าไปในรีโมตแอร์จนพังมานักต่อนักแล้ว บางรายอาจไม่ถึงกับพังแต่ก็อ๊องจนถึงขนาดที่ว่าปรับแอร์ให้เย็นด้วยอุณหภูมิที่ต้องการไม่ได้เลย เรื่องเล็กๆ แบบนี้อาจเป็นอะไรที่หลายคนมองข้าม แล้วก็ต้องเสียเงินแก้ปัญหาไปอย่างน่าเสียดาย ใครที่ชอบทำแบบนี้บ่อยๆ ลองสังเกตตัวเองกันดูว่าปล่อยให้น้ำไหลเข้ารีโมตจริงๆ มั้ย
5.หยุดวางรีโมตแอร์ไว้ที่ขอบโต๊ะ
เรื่องนี้ก็แปลกดีเหมือนกัน ทำไมคนที่เป็นคนคว้ารีโมตเปิดแอร์ จะชอบวางรีโมตนี้ไว้ตามขอบโต๊ะต่างๆ อยู่เสมอ ผลสุดท้ายก็คือเผลอเอามือไปปัดโดนบ้าง หรือเดินกระแทกโต๊ะจนรีโมตตกลงมาบ้าง บางคนโต๊ะสูงจัดถึงขั้นที่รีโมตแอร์หล่นลงมาแตกไปเลยก็มี ใครที่ชอบทำแบบนี้อยู่ก็อยากให้เลิกเหมือนกัน หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรวางไว้ที่กลางโต๊ะ หรือที่ที่ปลอดภัยมากกว่านี้เสียหน่อยก็ใช้ได้แล้ว
6.อย่าวางรีโมตไว้ในที่ที่ร้อนเกินไป
เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวัง โดยเฉพาะห้องหรือบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกที่โดนแสงแดดส่องโดยตรง พยายามเก็บรีโมตของคุณไว้ในที่ที่ไม่โดนแดด หรือในที่ที่มีความเย็นสักหน่อยก็ยังดี การปล่อยให้รีโมตโดนพระอาทิตย์ส่องบ่อยๆ หรืออยู่ในที่ที่มีความร้อนสูงนานๆ อาจทำให้เกิดการลักวงจรภายใน และอาจทำให้ปุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นยางเสื่อมหรือละลายจนเกิดความเสียหายอีกด้วย
7.เปลี่ยนถ่านทุก 6-8 เดือน
คนส่วนใหญ่มักจะรอให้ถ่านหมดกันก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนถ่าน แต่กว่าจะเปลี่ยนได้นั้นหลายคนก็ทั้งเคาะทั้งตบรีโมตจนกว่าจะแน่ใจว่ามันใช้ไม่ได้จริงๆ ถ้าหากไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป ก็ควรจะเปลี่ยนถ่านทุก 6-8 เดือนเพื่อให้รีโมตพร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ และเพื่อป้องกันการหมดอายุของถ่านที่มักจะมีของเหลวไหลออกมาอย่างที่บอกไปแล้วด้วย ซึ่งของเหลวนี้ถือว่าเป็นสารมีพิษอย่างหนึ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงหรือลูกหลานของคุณได้ หากเผลอกลืนหรือกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
การจะปรับแอร์ให้เย็น ไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย ถ้าคุณมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานแอร์ ซึ่งก็คือโหมดต่างๆ ในการทำงานของแอร์นั่นเอง และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการรักษารีโมตแอร์ให้อยู่กับคุณไปนานๆ ด้วย เพราะรีโมตแอร์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันที่จะช่วยปรับความเย็นให้คุณแฮปปี้ได้ ลองเอาข้อมูลต่างๆ ที่เราเขียนไปใช้กันดูกับแอร์ในคอนโดของคุณ แล้วจะรู้เลยว่าทำให้แอร์เย็นเร็วขึ้นไม่ยากอย่างที่คิด