NOTE:
– “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี” เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีระยะทางความยาว 34.5 กิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับความยาวของรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท (หมอชิต–สำโรง) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ–บางหว้า) รวมกัน
– “3 ปี 3 เดือน” คือกำหนดการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปี 2564
– รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี จะมีรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล (รางเดี่ยว) ใช้รถ Bombardier รุ่น Innovia 300 ซึ่งสามารถจุคนได้ประมาณ 1,000 คนต่อขบวน ทำความเร็วได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เรียกได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมไปถึงการทยอยคืนพื้นผิวจราจรจากโครงการก่อสร้างบางส่วนที่สร้างเสร็จไปบ้างแล้ว
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีความสำคัญไม่แพ้โครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เนื่องด้วยรถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้มีการเดินรถในรูปแบบ Feeder ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินรถที่ไม่ได้ตัดเข้าสู่ใจกลางเมืองชั้นในโดยตรง แต่กลับเป็นการเดินรถที่นำพาผู้โดยสารจากพื้นที่ชั้นนอกไปส่งต่อให้กับรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ที่มีเส้นทางการเดินรถเข้าสู่ใจกลางเมืองแทน
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี จะมีระยะทางความยาว 34.5 กิโลเมตร (เทียบเท่ากับรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทและสายสีลมรวมกัน) ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ช่วงศูนย์ราชการนนทบุรียาวไปจนถึงเขตมีนบุรี (ติวานนท์ > แจ้งวัฒนะ > มีนบุรี) ผ่านสถานีทั้งหมด 30 สถานี มีรูปแบบการเดินรถเป็นแบบรถไฟฟ้าโมโนเรล (รางเดี่ยว – Straddle Monorail) ใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้นราวๆ 3.3 ปี
ทั้งนี้เรามาดูกันว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรีแล้วเสร็จ คนกรุงจะได้อะไรจากรถไฟฟ้าสายสีนี้กันบ้างครับ
1.เป็นจุด Interchange ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสาย
ด้วยความที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มี Interchange กับรถไฟฟ้าสายสีอื่นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น สายสีม่วง (สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี) สายสีน้ำเงิน (สถานีเตาปูน) สายสีส้ม (สถานีมีนบุรี) และสายสีแดง (สถานีหลักสี่) จึงทำให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย
2.ลดปัญหาการจราจรติดขัด
แยกแคราย ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ วัชรพล หลักสี่ รามอินทรา และมีนบุรี ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีปัญหาทางด้านการจราจรมาอย่างยาวนาน การมีเส้นทางรถไฟฟ้าตัดผ่านจะช่วยเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางและแบ่งเบาภาระการสัญจรบนท้องถนนให้รถติดน้อยลง
3.ความเจริญต่างๆ จะมาถึงพื้นที่โดยรอบ
เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี จะมีรูปแบบการเดินรถที่เป็น Feeder ซึ่งเป็นการนำพาผู้โดยสารจากพื้นที่ชั้นนอกไปสู่รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่มีเส้นทางการเดินรถเข้าสู่เมืองชั้นใน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้พื้นที่โดยรอบของรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีแนวโน้มที่จะเจริญขึ้นเมื่อมีรถไฟฟ้าตัดผ่าน ยกตัวอย่างเช่น แยกแคราย ปากเกร็ด และตลาดมีนบุรี ที่จะมีผู้คนเดินทางไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
4.ในอนาคตการเดินทางไปเมืองทองธานีอาจสะดวกมากยิ่งขึ้น
อย่างที่รู้กันดีว่า “เมืองทองธานี” เป็นกลุ่มโครงการอาคารชุดขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัย หมู่บ้านจัดสรร มหาวิทยาลัย สนามกีฬา รวมไปถึง อาคารจัดแสดงนิทรรศการและการประชุม ที่มักจะมีคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างชาติและงานแฟร์ดีๆ ให้เดินเที่ยวกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าการเดินทางไปยังเมืองทองธานีนั้นค่อนข้างมีปัญหาเรื่องระยะทางและการจราจรที่ติดขัดอยู่พอสมควร การมาถึงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยแบ่งเบาภาระในการเดินทางให้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยทางบริษัทที่ได้รับสัมปทานนั้นก็ได้มีแผนที่จะสร้างส่วนต่อขยายจาก สถานีศรีรัช เข้าไปยังบริเวณเมืองทองธานีเพิ่มเติมอีก 2 สถานี ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอพิจารณาให้ผ่าน EIA นั่นเอง
โดยในปัจจุบันนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี กำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างงานระบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2564 ซึ่งตอนนั้นรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงเช่นสายสีแดง สายสีเขียวและสายสีเหลืองก็น่าจะเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน ชาว Gen-C ที่บ้านอยู่แถวๆ แครายคงต้องอดใจรอความสะดวกสบายกันอีกสักพักนะครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development