ปัจจุบันกรุงเทพฯ ประสบปัญหาการจราจรที่ิติดขัดอย่างมาก จากการจัดอันดับของสำนักข่าวระดับโลก BBC ในปี 2555 นั้น ระบุว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสถาพการจราจรติดขัดที่สุดในโลก เนื่องจากมีปริมาณรถยนต์บนท้องถนนวันละกว่า 5 ล้านคัน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนเพียง 8% เท่านั้นเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นการคมนาคมขนส่งมวลชน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อีกหนึ่งโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดนั่นก็คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา
เส้นทางทับซ้อนของรถไฟฟ้าสายสีเทาและ BRT
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1: ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ช่วงที่ 2 : พระโขนง-พระราม 3 และช่วงที่ 3: พระราม3-ท่าพระ ระยะทางรวมทั้งหมด 3 ระยะ 39.91 กิโลเมตร โดยช่วงเส้นทางส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าสายสีเทานั้น ได้ซ้อนทับกับระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันคือ BRT ในเส้นทางเดินรถ ช่วงที่3 พระราม3-ท่าพระ ซึ่ง BRT จะหมดสัญญาการให้บริการปี 2560 นี้ ซึ่งจากการเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2553 ปรากฎว่า ผลประกอบการจากรถ BRT นั้น มีผู้ใช้บริการในปี 2553 เพียง 15,000 คนต่อวัน และในปี 2558 มีจำนวนผู้ใช้บริการ 23,000 คนต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้คือจำนวน 30,000 โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงแรกนั้น คาดประมาณการเปิดให้บริการในปี 2562 และในช่วงที่เหลือคาดประมาณการเปิดให้บริการปี 2573 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
ระบบรางและรูปแบบสถานี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา จะเป็น ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 4,000-48,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทางลักษณะตัวรถไฟฟ้าสามารถต่อเป็นขบวนยาว มีตู้โดยสาร 3-8 ตู้ และขับเคลื่อนด้วยล้อยาง รูปแบบสถานีเป็นสถานียกระดับ ซึ่งมีทั้งหมด 39 สถานี แบ่งเป็น 3 ช่วง โดยมีรายละเอียดดังนี้
สำหรับสถานที่สำคัญที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทาพาดผ่านนั้น จะขอกล่าวเฉพาะเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีแผนในการเปิดให้บริการภายในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงสถานีที่มีความเป็นไปได้และใกล้จะมาถึงที่สุด อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่ผ่านสถานที่สำคัญที่น่าสนใจทั้งบริเวณรอบนอกและใจกลางกรุงเทพฯ อีกด้วย
ช่วงที่ 1 : วัชรพล-ทองหล่อ จำนวน 15 สถานี
เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เป็นการเดินทางจากวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นจากสถานีวัชรพล ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ตั้งอยู่บริเวณซอยวัชรพลตรงจุดตัดกับถนนรามอินทรา จากนั้นเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม ผ่านสถานีนวลจันทร์ที่บริเวณซอยนวลจันทร์ และไปสู่แยกเกษตร-นวมินทร์ที่ สถานีเกษตรนวมินทร์ ระยะทางในช่วงนี้ประมาณ 3 กิโลเมตร ในช่วง 3 สถานีนี้ มีสถานที่สำคัญหลายแห่งตลอดแนว เช่น ตลาดถนอมมิตร, Plearnary Mall , ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา, ตลาดนัดหัวมุม,The Walk เกษตร-นวมินทร์ อีกทั้งยังง่ายต่อการเดินทางหากต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัว ด้วยการเชื่อมต่อกับทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์
ช่วงสถานีต่อมา จะเป็นเส้นทางที่เดินทางพาดผ่านแหล่งแฮงก์เอ้าท์ของหนุ่มสาววัยทำงานยอดนิยมอย่างบริเวณถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา ที่ในปัจจุบันสามารถเดินทางได้เพียงแค่การใช้รถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น เส้นทางเริ่มจากสถานีเกษตรนวมินทร์ สู่สถานีคลองลำเจียกที่บริเวณปากซอยคลองลำเจียก ตามแนวถนนสู่ สถานีโยธินพัฒนา บริเวณปากซอยโยธินพัฒนา สถานีลาดพร้าว 87 ที่บริเวณปากซอยลาดพร้าว87 ต่อมาที่สถานีสังคมสงเคราะห์ บริเวณปากซอยสังคมสงเคราะห์ และที่สถานีฉลองรัช ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณจุดตัดถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว83 ตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าในช่วงนี้ เรียงรายด้วยศูนย์การค้า, ร้านอาหาร และแหล่งแฮงก์เอ้าท์ที่สำคัญของบริเวณเลียบทางด่วนรามอินทรามากมาย อาทิเช่น Crytal Park,Crystal Veranda, Chic Republic, Crystal Design Center, Central Festival East Ville, Tesco Lotus Extra, Big C เป็นต้น
ต่อมาเป็นช่วงสถานีที่เชื่อมกับแหล่งออฟฟิสที่ขยับขยายจากย่านกลางเมือง อย่างเช่น Town in Town ง่ายต่อการเดินทางต่อไปยังถนนรอบนอกเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย จากสถานีฉลองรัชบริเวณจุดตัดถนนลาดพร้าว แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรม สู่สถานีศรีวรา อยู่ที่บริเวณศูนย์หนังสือโรงเรียนบดินเดชา จากนั้นไปที่สถานีประชาอุทิศ ตั้งอยู่บริเวณถนนประชาอุทิศ และไปมุ่งหน้าตามแนวถนนต่อไปสู่สถานีพระราม 9 ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกประดิษฐ์มนูธรรม ก่อนจะยกระดับข้ามทางพิเศษศรีรัชและเลี้ยวเข้าสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
สถานีต่อมาคือสถานีเพชรบุรี-ทองหล่อ ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิท55 หรือซอยทองหล่อ ย่านร้านอาหาร, คาเฟ่ และแหล่ง outing ที่สำคัญของกรุงเทพฯนั่นเอง จากสถานีเพชรบุรี-ทองหล่อ เส้นทางจะเลี้ยวเข้าสู่ซอยทองหล่อ โดยต่อไปที่ สถานีแจ่มจันทร์ ตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลคามิลเลี่ยน สู่สถานีทองหล่อ 10 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยทองหล่อ10 และสิ้นสุดที่สถานีทองหล่อ บริเวณถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ซึ่งในช่วงสถานีเหล่านี้ พาดผ่านใจกลางทองหล่อตลอดทั้งซอย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อุดมไปด้วยร้านอาหาร, ร้านกาแฟ, ผับ, บาร์, โรงแรม, คอนโดมิเนียม และสถานบริการอื่นๆ อีกมากมาย
การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงที่1 : วัชรพล-ทองหล่อ
จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงที่1 นั่นคือช่วงวัชรพล-ทองหล่อ โดยบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับว่าจ้างนั้น ได้ทำการคาดการณ์นับตั้งแต่ปีที่เปิดให้บริการจนถึง 30 ปีให้หลัง นั่นคือ ปี 2562-2592 พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้นเป็นลำดับ
การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงที่2 พระโขนง-พระราม3 และ ช่วงที่3 พระราม3-ท่าพระ
ช่วงอื่นๆของรถไฟฟ้าสายสีเทาที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาโครงการ คือ ช่วงที่ 2 พระโขนง-พระราม3 และช่วงที่3 พระราม3-ท่าพระ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2573 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีกมากกว่า 410,000 คน ซึ่งหากรวมปริมาณผู้โดยสารตลอดทั้ง 3 ช่วงของรถไฟฟ้าสายสีเทา ก็จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากถึง 669,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน เลยทีเดียว
ทั้งนี้เมื่อรถไฟฟ้าสายอื่นๆได้มีการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งหากมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครบครันทุกเส้นทาง จะทำให้มีการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น และทำให้สามารถลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนนได้อีกด้วย
ติดตามบทความอัพเดตสำหรับชาว GEN-C ได้ทุกเดือนทาง THE GEN-C Urban Living Solution Blog #Anandamasstransit
สมัครสมาชิกเพื่อติดตามและรับข่าวสารหรือร่วมกิจกรรมดีๆ กับเราทาง THE GEN-C Urban Living Solution Blog ได้ที่ http://bit.ly/2aEMxIJ