เมื่อพูดถึงแมวส้ม เพื่อน ๆ หลายคนคงนึกถึงแมวที่มีขนสีน้ำตาลอมส้มที่ดูน่ารัก เป็นมิตร และน่าจะเป็นที่รักของทาสแมวทุกคน แต่ในอีกด้านก็มีสถิติบอกว่า ‘เจ้าแมวสีส้ม’ นั้นถูกทิ้งเป็นอันดับ 2 รองจากแมวดำเลย จึงเกิดเป็นวัน #วันขอบคุณแมวส้ม วันชื่นชมแมวส้ม หรือ Ginger Cat Appreciation Day ที่ตรงกับวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ซึ่งเราก็อยากชวนทุกคนมาหยุดพักแล้วให้เวลากับแมวส้มข้างกาย รวมไปถึงมาเรียนรู้เรื่องราวของ แมวส้ม ที่หลายนยังไม่รู้ไปพร้อม ๆ กัน
แมวสีส้ม ไม่มีสายพันธุ์เฉพาะ
หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าแมวสีส้มเป็นสายพันธุ์เฉพาะ แต่จริง ๆ แล้ว ‘แมวสีส้ม’ สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นแมวไทยขนสั้น (Domestic Shorthair), แมวเปอร์เซีย (Persian) หรือแมวเมนคูน (Maine Coon) ซึ่งการที่แมวมีขนสีส้มเกิดจากยีนส์ที่เรียกว่า “Orange gene” ที่อยู่บนโครโมโซม X ของแมว ทำให้เพื่อน ๆ สามารถพบแมวส้ม แมวขนสีส้มได้ในหลากหลายสายพันธุ์นั่นเอง
แมวสีส้ม มีลวดลายทุกตัว แตกต่างกัน
ลองหันไปจับแมวส้มใกล้ตัวของเพื่อน ๆ มาสำรวจกันอีกครั้ง เพราะอีกหนึ่งความพิเศษของแมวสีส้มคือ แมวสีส้มทุกตัวจะมีลวดลายบนตัวอยู่ ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีลวดลายเหล่านั้นแตกต่างกันไป ไม่มีแมวสีส้มที่มีลวดลายเหมือนกันทุกจุดอย่างแน่นอน บางตัวอาจมีลวดลายรูปตัว M ที่บริเวณหน้าผาก นี่คือความเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้แมวส้มแต่ละตัวดูน่ารักและโดดเด่นในแบบของตัวเองนั่นเอง
แมวสีส้ม มีเพศผู้มากกว่าเพศเมีย
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับ แมวส้ม เพราะถ้าเพื่อน ๆ เคยสังเกตจะเห็นว่าแมวสีส้มที่เคยเจอส่วนใหญ่เป็นแมวเพศผู้…และสิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะในความจริงแล้ว แมวส้มส่วนใหญ่เป็นเพศผู้ โดยมีอัตราเพศผู้ต่อเพศเมีย ประมาณ 3:1 ซึ่งสาเหตุเกิดจากการจะเป็น แมวสีส้ม ได้ จะต้องมี Orange Gene อยู่ที่โครโมโซม X ดังนั้นหากเอาเรื่องโครโมโซมมาคุยกัน จะอธิบายได้ว่า
- แมวเพศเมีย มีโครโมโซม XX ซึ่งหากจะเป็นแมวส้มจะต้องมี Orange Gene อยู่ที่โครโมโซม X ทั้งสองตัว
- แมวเพศผู้ มีโครโมโซม XY ขอแค่มี Orange Gene อยู่ที่โครโมโซม X เพียงหนึ่งตัวก็สามารถมีขนสีสม
หวังว่าข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบล็อกนี้จะทำให้เพื่อน ๆ หันมาหลงรักในเจ้าแมวส้มมากขึ้น หรือพักจากงานหนักมากอดแมวสีไหนก็ได้ข้างกายให้ผ่อนคลายกันดีกว่า