ลงทุนกับ ‘หุ้นกู้’ พร้อมเรียนรู้คำศัพท์

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือ มือเก๋าที่กำลังสนใจ ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) นั่นก็คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับการใช้ดำเนินกิจการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การขยายธุรกิจ, การซื้ออุปกรณ์ หรือแผนก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น โดยจะแตกต่างจาก ‘พันธบัตรรัฐบาล’ หรือ ตราสารหนี้รัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยรัฐบาล หรือ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

กลับมาพูดคุยกันต่อที่ ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) หากนักลงทุนเป็นผู้ซื้อหุ้นกู้ สถานะจะกลายเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นลูกหนี้ ซึ่งจะมีการระบุสัญญาการจ่ายดอกเบี้ยและเงินกู้คือตามที่กำหนด อาจจะ 3 ปีหรือระยะยาว 10 ปีขึ้นอยู่ตามสัญญา โดยผลตอบแทนจะอยู่ในรูปแบบดอกเบี้ย อาจมีการจ่ายออกในทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% เหมือนรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นทุน ทั้งนี้ก่อนลงทุนควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง

แล้วประเภทของ ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) มีอะไรบ้าง? ซึ่งแน่นอนว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) จะมีหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้สนใจหุ้นกู้ของบริษัท โดยแบ่งออกมาได้ 5 ประเภทดังนี้

  1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย แต่จะอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าเจ้าหนี้สามัญ
  2. หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ลำดับเท่ากับเจ้าหนี้สามัญ
  3. หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้สามารถเปลี่ยนหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทตามราคาที่กำหนดไว้
  4. หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารหนี้มีทรัพย์สินเป็นประกัน โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในสินทรัพย์ที่ค้ำประกันเหนือกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ
  5. หุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ เป็นประกัน

การลงทุนใน ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) แต่ละประเภท ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุนของตัวเอง และวัดระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับมือได้ ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนประเภทของหุ้นกู้ที่เหมาะสมกับเรา

หากเทียบการลงทุนระหว่าง หุ้นสามัญ (Common Stocks) กับ หุ้นกู้ (Corporate Bond) ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนที่ลักษณะคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น

  • หุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ต่างจากหุ้นสามัญที่สถานะของผู้ลงทุน คือ ผู้ถือหุ้น
  • หุ้นกู้ มีระยะการลงทุนที่แน่นอน ในสัญญามีการกำหนดระยะเวลาจ่ายดอกเบี้ย และจ่ายเงินคืน
  • หุ้นกู้ ได้รับผลตอบแทนเป็น ดอกเบี้ย ต่างจากหุ้นสามัญที่ผลตอบแทนจะเป็นในรูปแบบของเงินปันผล
  • หุ้นกู้ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนผ่านบริษัทเอกชนผู้ออกตราสารหนี้ได้โดยตรง หรือดำเนินการผ่านธนาคารบางแห่ง เป็นต้น

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top