ทำไมวันนี้ Ananda ถึงชวนชาว Gen C มา ‘กิน-พอ-ดี’ และร่วมมือกันลด Food Waste ให้กับโลกของเราในวันอาหารโลก ขอเกริ่นก่อนว่า ‘วันอาหารโลก (World Food Day)’ จะตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาความอดอยากและความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก ดังนั้นวันนี้จึงเป็นอีกโอกาสที่จะปลุกพลังให้เราทุกคนกลับมาทบทวนถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการลด Food Waste ลดขยะอาหาร ที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะ แต่ยังมีส่วนช่วยลดปัญหาความอดอยากได้ด้วย มาลองดูกันว่าวิธีไหนที่เราจะเลือกทำได้บ้าง?
การจัดเก็บอาหารให้ถูกประเภท
เพื่อน ๆ Gen C หลายคนอาจจะสงสัยว่าการจัดอาหารให้ถูกประเภทจะช่วยลด Food Waste ได้อย่างไร? แต่หากมาดูเหตุผลกันลึก ๆ จะรู้ว่าการจัดเก็บอาหารให้ถูกประเภทจะช่วยยืดอายุการใช้งานของวัตถุดิบประเภทนั้นๆ และยังช่วยลด Food Waste ได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น
- แอปเปิ้ลกับกล้วย ควรจัดเก็บแยกกับผักกาดหรือผักสลัด เพราะแอปเปิ้ลกับกล้วยสามารถผลิตก๊าซเอทิลีนออกมาได้ ซึ่งมีผลเร่งการเน่าเสียของผักบางชนิดได้ ดังนั้นทางที่ดีเราควรจัดเก็บประเภทของผัก ผลไม้บางชนิดแยกกัน ซึ่งจะช่วยคงสภาพความสดไว้ให้เราทานได้ทันนั่นเอง
เข้าใจความหมายของ Best Before และ Use by Date ก่อนซื้อ
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังสับสนเรื่องของวันหมดอายุบนฉลาก วันนี้เราลองมาทำให้เคลียร์กันซะหน่อยดีกว่า
- Best Before ตัวย่อบนฉลากจะเป็น BBF, BB หรือ BBE จะหมายถึง ‘วันที่ควรบริโภคก่อน’ ดังนั้นวันที่ที่ระบุบนฉลากจะเป็นระยะเวลาที่อาหารยังให้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่อร่อยเหมือนเดิม แต่หากเลยจากวันนั้นก็ทานได้แต่รสชาติหรือเนื้อสัมผัสอาจไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้ต้องเช็กความเน่าเสียจากสภาพอากาศหรือปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่น
- Use by Date ตัวย่อบนฉลากจะเป็น EXP หรือ EXD จะหมายถึง ‘วันหมดอายุ’ เท่ากับว่าหลังจากวันที่ระบุบนฉลากจะกินไม่ได้แล้ว และควรทิ้งลงถังขยะทันที
ดังนั้นหากเราเข้าใจว่าแต่ละคำนั่นมีความหมายว่าอย่างไร จะทำให้เราสามารถแพลนการซื้อของเข้าบ้าน ประเมินว่าจะกินทันหรือไม่ทัน ก็จะช่วยลดปัญหาขยะจากอาหารที่ถูกทิ้งเปล่า ๆ จากวันหมดอายุนั่นเอง
Zero Waste Cooking ปรุงอาหารเองและใช้ทุกส่วนแบบไม่เหลือทิ้ง
ลองกันดูไหมเพื่อน ๆ ด้วย Zero Waste cooking Challenge คือการทำอาหารแบบไม่เหลือทิ้ง โดยเราจะใช้ทุกส่วนของอาหารแบบไม่มีเสียเปล่า เช่น เปลือกผัก, เปลือกผลไม้ หรือ ก้างปลา ซึ่งสามารถเอามาปรุงอาหารได้หมด เช่น เปลือกแครอทก็เอามาทำซุปได้, ก้างปลาสามารถนำมาต้มเป็นน้ำสต็อกได้ เรียกได้ว่าหากทุกคนร่วมกันทำแนวคิดนี้ นอกจากจะไม่เพียงช่วยลด Food Waste แล้ยังทำให้เราใช้วัตถุดิบทุกอย่างได้คุ้มค่าจากเงินที่จ่ายไปเลย
การถนอมอาหาร: เคล็ดลับที่ไม่ควรมองข้าม
ผักใกล้เสีย ผลไม้ใกล้สุก หรือขนมปังจะถึงวันหมดอายุ สิ่งเหล่านี้เพื่อน ๆ สามารถนำมายืดอายุการเก็บรักษาด้วยวิธี ‘ถนอมอาหาร’ ได้ และใครๆ ก็สามารถทำวิธี ถนอมอาหาร ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการดอง, การแช่แข็ง หรือการอบแห้ง ทุกอย่างมีประโยชน์ช่วยยืดอายุอาหาร แถมยังช่วยให้เรามีอาหารกินได้นานขึ้น และลดการทิ้งอาหารแบบไม่จำเป็นในบริบทของ ‘วันอาหารโลก’ การถนอมอาหารช่วยทำให้เราสามารถเก็บอาหารไว้ใช้ได้นาน และแบ่งปันให้กับคนที่ต้องการในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย