เทศกาลจบการศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยได้ทยอยเข้ามา แน่นอนว่าช่วงเวลานี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังก้าวมาสู่สถานะคนวัยทำงาน นอกจากสังคมสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เรื่องการเงินก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเรามีรายได้ ความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารเงินก็ต้องมาควบคู่กันด้วย แต่ในช่วงแรกๆ First Jobber อาจจะยังภาคภูมิใจกับการหาเงินได้เองและบางครั้งอาจสนุกกับการใช้จ่ายเพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง
วันนี้อนันดาเลยมีแนวทางการวางแผนการเงินสำหรับเด็กจบใหม่มาฝากกัน
อันดับแรกที่เป็นขั้นตอนเบสิคที่สุดก็คือ การออม เมื่อเรามีรายได้เพิ่มมากกว่าสมัยเรียน เราสามารถกระจายกองเงินเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ออมเผื่อฉุกเฉิน ออมระยะสั้น ออมระยะยาว โดยขั้นต่ำของการออมควรอยู่ที่ 10% ของรายได้
อันดับถัดมาเป็นเรื่องของการจัดสรรเงินไว้เพื่อการลงทุน เนื่องมาจากการออมในรูปแบบเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปให้ผลตอบแทนน้อย แต่ข้อดีคือไม่เสียเงินต้น แต่การลงทุนก็จะมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปถึงความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสสูญเสียเงินต้นแต่ผลตอบแทนที่ได้อาจได้มากเช่นกัน
ดังนั้นอย่างที่เราได้ยินประโยคบ่อยๆที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงานและอยากแบ่งเงินเดือนมาลงทุน ควรต้องทำการบ้านเรื่องนี้อย่างละเอียด
เมื่อเราเข้าใจหรือศึกษาทั้งการออมและการลงทุนอย่างถ่องแท้แล้ว ลองกลับมาสำรวจหรือประเมินตัวเองว่ามีความพร้อมในการออมและลงทุนในรูปแบบไหน ยกตัวอย่างการลงทุน
- หุ้น อาจเหมาะสำหรับคนที่สามารถรับความเสี่ยงได้มาก และมีเวลามอนิเตอร์หากเกิดช่วงราคาขาลงที่ต้องสามารถตัดสินใจว่าจะบริหารจัดการสถานการณ์ความเสี่ยงนี้อย่างไร
- กองทุน อาจเหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาบริหารการลงทุนเองและยังไม่มั่นใจในการลงทุนด้วยตัวเอง เราสามารถลงกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกว่าช่วยดูแลในส่วนนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกองทุนก็ยังมีความผกผันและความเสี่ยงด้วยเช่นกัน แต่ก็มีกองทุนหลายกองมีรูปแบบการปันผล ซึ่งเราอาจะได้ผลตอบแทนจากตรงนี้
- ซื้อสินทรัพย์ อาจเป็นทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้น หรือช่วยกระจายความเสี่ยงนอกจากการลงทุนในหุ้นหรือกองทุน เช่น การออมทองคำ หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างการปล่อยเช่าบ้าน หรือ คอนโด
ยังมีวิธีการอีกมากมายในการลงทุน อยู่ที่ว่าถ้าเราเข้าใจไลฟ์สไตล์ตัวเอง ก็จะสามารถเลือกวิธีการออมและลงทุนได้ถูกจริตของตัวเองและไม่เครียดด้วย
เนื่องจากช่วงเวลาหาเงินได้ด้วยตัวเองในช่วงแรก เราอาจยังเป็นมือใหม่ในการเก็บออมและการลงทุน อีกทั้งยังสนุกกับการเข้าสังคมและการใช้จ่าย
แต่ถ้าเราเริ่มสร้างนิสัยการออมและการลงทุนได้เร็วตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำงาน ย่อมส่งผลดีในระยะยาว นอกจากออมและลงทุนแล้ว วัย First Jobber ยังเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง และหากจัดการบริหารเวลาได้ดี นอกเวลาทำงานก็ยังสามารถ explore หาช่องทางที่สร้างรายได้เพิ่มได้อีกเช่นกัน เพราะการเริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยต่อยอดมูลค่าสินทรัพย์ให้ทบต้นทบดอกและงอกงามในอนาคตได้อีกด้วย