การมีห้องพระในบ้านเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน ตามความเชื่อว่าการมีพระอยู่ในบ้านเป็นการเสริมสิริมงคล ทำให้คนในบ้านร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งห้องพระในอดีตจะมีขนาดใหญ่ เนื่องจากบ้านที่มีห้องพระในอดีตจะเป็นบ้านของเจ้าขุนมูลนายเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนี้ขนาดของห้องพระมีขนาดที่เล็กลงตามขนาดพื้นที่ของบ้าน หรือสำหรับคนที่อยู่ในคอนโค อพาร์ทเม้นท์ ห้องชุดที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้พื้นที่ในการทำห้องพระมีกำจัด จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการติดหิ้งพระ แทนการจัดห้องพระ ซึ่งการจัดหิ้งพระเพื่อเสริมสิริมงคลสามารถทำได้เช่นเดียวกับการจัดห้องพระ และไม่ว่าจะคุณจะอาศัยอยู่บ้านหรือคอนโดก็สามารถติดตั้ง หิ้งพระ ได้เช่นเดียวกัน
หิ้งพระ คืออะไร
หิ้งพระ คือ ชั้นติดผนังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พระอริยะสงฆ์หรือวัตถุมงคลที่เคารพนับถือ ซึ่งของหิ้งพระจะเป็นแผ่นสำหรับนำไปยึดติดกับผนัง ทำจากหลายวัสดุแต่ที่นิยมจะเป็น หิ้งพระ ที่ทำจากไม้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา สีและลวดลายสวยงาม
ตำแหน่งหิ้งพระเสริมมงคล
การติด หิ้งพระ เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน มีหลักการเลือกตำแหน่งในการติดดังนี้
1.ติดชั้นบน
บ้านที่มีมากกว่า 2 ชั้นควรเลือกติด หิ้งพระ ที่ชั้นบนสุดของบ้าน เพราะพระเป็นสิ่งมงคลที่สูงจึงไม่ควรอยู่ชั้นล่างที่มีการเดินข้ามไปข้ามมาด้านบน
2.หันไปทางทิศมงคล
การติด หิ้งพระ ต้องหันหน้าไปยังทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือหรือทิศที่หันออกหน้าประตูบ้าน ไม่ว่าจะหันไปทางทิศใด พระพุทธรูปจะต้องหันหน้าออกนอกบ้าน ห้ามหันหน้าพระเข้ามาในบ้าน ตามความเชื่อการหันพระออกนอกบ้านเพื่อให้พระท่านคุ้มครอง ป้องกันภัยให้คนในบ้าน ระแวดระวังภัยจากภายนอกบ้านนั่นเอง โดยแต่ละทิศจะให้ความมงคลต่างกัน ดังนี้
2.1 ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งราชา ส่งผลให้คนในบ้านการงานดี มีการเลื่อนตำแหน่ง ก้าวหน้าทางด้านการงาน
2.2 ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศเศรษฐี ส่งผลให้คนในบ้านค้าขายร่ำรวย ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยเงินทาง
2.3 ทิศเหนือเป็นทิศมัชฌิมาปฏิปทาหรือทิศแห่งสุขภาพ ส่งผลให้คนในบ้านปราศจากโรคภัย อยู่ดีมีสุข มีแต่ความเจริญ
แต่ทิศที่ห้ามหันหิ้งพระไปเด็ดขาด คือ ทิศตะวันตก ซึ่งเปรียบเสมือนทิศแห่งความตาย
3.หน้าหิ้งพระต้องโล่ง
หน้าหิ้งพระจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางหรือสิ่งของมาบังบริเวณหน้า หิ้งพระ ไม่อยู่ในมุมอับมุมมืดที่ไม่มีแสงแดดส่อง หน้าหิ้งพระควรเป็นพื้นที่โล่งกว้าง หากมีสิ่งของ เช่น ตู้ โซฟา ชั้นวาง เป็นต้น มาขวางหน้าหิ้งพระจะทำให้คนในบ้านเกิดการเจ็บป่วยไม่เป็นมงคลกับคนในบ้าน
4.หิ้งพระต้องไม่ติดกับห้องน้ำ
การติด หิ้งพระ ห้ามติดกับผนังห้องน้ำหรือตั้งอยู่หน้าห้องน้ำ เพราะห้องน้ำเป็นแหล่งรวมสิ่งสกปรกหรือของเสียเป็นพลังงานลบ แต่พระเป็นของสูงที่ให้พลังงานบวกกับคนในบ้าน หากนำของทั้งสองสิ่งมาอยู่ติดกันจะทำให้เกิดการปะทะหรือหักล้างกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนในบ้านไม่ได้รับความเป็นมงคลจากพระและเป็นการดูหมิ่นองค์พระด้วย
5.หิ้งพระไม่ควรอยู่ในห้องนอน
สำหรับบ้านหรือคอนโดที่มีห้องนอนแยกกับพื้นที่อื่น ไม่ควรติด หิ้งพระ ในห้องนอน เพราะห้องนอนเป็นห้องที่เราใช้ทำกิจวัตรประจำวัน มีการผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า หากเป็นสามีภรรยามีการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นกิจที่ไม่เหมาะในการทำหน้าพระ ดังนั้นจึงไม่ควรติดหิ้งพระในห้องนอน แต่ถ้าเป็นบ้านหรือห้องที่ไม่มีการแยกห้องนอน การติดหิ้งพระมีหลักการติดเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับห้อง ดังนี้
- ไม่ติดบริเวณปลายเตียง เพราะเวลานอนเท้าจะหันไปทางพระพุทธรูป จะติดหันหน้าเข้าด้านข้างหรือติดด้านบนหัวนอนก็ได้
- ติดสูงจากพื้นอย่างน้อย 2.0 เมตรหรือสูงจากศีรษะอย่างน้อย 30- 50 เซนติเมตร
- ไม่ติดกับผนังห้องน้ำหรือหันหน้าเข้าหาห้องน้ำ
- ไม่ติดเหนือประตูทางเข้าหรือเหนือหน้าต่าง
- หันไปทางทิศมงคล คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
6.อากาศถ่ายเท มีแสงแดดส่องถึง
หิ้งพระ ที่ดีควรมีแสงแดดส่องถึง มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดเป็นตัวแทนของพระอาทิตย์เมื่อส่องลงมาจะช่วยเสริมพลังงานด้านดีให้กับองค์พระที่อยู่บนหิ้ง การถ่ายเทของอากาศเป็นการนำพลังงานด้านลบออกไปและเสริมด้วยพลังงานบวกจากองค์ให้กับคนในบ้าน ดังนั้นหิ้งพระควรอยู่ในตำแหน่งที่มีลมและแสงแดดถ่ายเทได้ดี
7.ติดกลางบ้านดีที่สุด
ตำแหน่งติดหิ้งพระที่ดีที่สุดก็คือ ตำแหน่งบริเวณกลางบ้าน ดังนั้นถ้าสามารถติด หิ้งพระ ที่บริเวณกลางบ้านจะดีมาก เพราะบริเวณกลางบ้านเปรียบเสมือนหัวใจและจุดศูนย์รวมของบ้าน หากจุดนี้มีพระคอยปกปักษ์รักษาจะทำให้คนในบ้านมีสุขภาพที่แข็งแรง อยู่เย็นเป็นสุข ร่ำรวยเงินทอง ทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น
8.ห้ามติดใต้บันได ใต้คาน
หิ้งพระ ไม่ควรติดที่บริเวณใต้บันไดหรือใต้คาน เพราะบันไดเป็นส่วนที่มีการเดินผ่านเป็นประจำ การติดหิ้งพระใต้บันไดจึงเป็นการแสดงความไม่เคารพพระ สำหรับคานไม่ควรเพราะคานคือสิ่งกดทับ ดังนั้นการติด หิ้งพระ ใต้คานก็เหมือนสิ่งมงคลโดนกดทับ ทำให้ไม่สามารถคุ้มคลองคนในบ้านได้ ดังนั้นจึงไม่ควรติดหิ้งพระใต้บันไดหรือใต้คาน
9.ห้ามติดหิ้งพระเหนือประตู
เนื่องจากประตูเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเป็นที่ไม่สงบ ไม่เหมาะกับการติด หิ้งพระ ที่ต้องการความสงบเงียบ ตามความเชื่อหากติดหิ้งพระเหนือประตูทางเข้าจะทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้านมีแต่ความวุ่นวาย ไม่สงบ
10.ติดหิ้งพระสูงเหนือศีรษะ
ตำแหน่งในการติดหิ้งพระควรสูงจากพื้นบ้านอย่างน้อย 2 เมตรหรือสูงจากศีรษะอย่างน้อย 50 เซนติเมตร ห้ามติดหิ้งพระอยู่ในระดับศีรษะหรือต่ำกว่า เพราะการติด หิ้งพระ สูงกว่าศีรษะตามความเชื่อจะทำให้คนในบ้านมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่หากติดต่ำกว่าศีรษะจะทำให้คนในบ้านตกต่ำ มีอุปสรรคมาก
ที่กล่าวมานี้เป็นตำแหน่งสำหรับติดหิ้งพระเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่อยู่อาศัย ซึ่งตำแหน่งที่กล่าวมานี้สามารถใช้ได้ทั้งการติดหิ้งพระภายในบ้าน คอนโดหรือห้องชุดได้
ลำดับการติดหิ้งพระสำหรับวางพระ
การติด หิ้งพระ ไม่จำเป็นต้องวางพระเพียงองค์เดียว แต่สามารถวางพระและเครื่องบูชาอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งการติดหิ้งพระสามารถติดเป็นชั้นเดียวและวางพระกับเครื่องบูชาอยู่ด้วยกัน หรือติดแบบเป็นชั้น ๆ สำหรับวางพระพุทธ พระอรหันต์ พระอริยะสงฆ์ เทวรูปและเครื่องบูชาอื่น ๆ สำหรับการติดหิ้งพระเป็นชั้นจะมีลำดับการติดหิ้งพระดังนี้
1.พระพุทธ
หิ้งพระ สำหรับวางพระพุทธหรือรูปจำลองขององค์พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบจะต้องอยู่ชั้นบนสุด พระพุทธสามารถมีหลายองค์ได้ แต่จะมีเพียงองค์เดียวที่เป็นพระประจำบ้าน สำหรับพระพุทธองค์อื่นให้วางในลำดับรองลงมาแต่อยู่สูงกว่าพระอรหันต์ พระพุทธรูปที่นิยมนำมาเป็นพระประธานประจำบ้าน เช่น พระปางประจำวัน พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นต้น
2.พระอรหันต์
หิ้งพระ ชั้นสองหรือชั้นที่รองจากพระพุทธรูปจำลองขององค์พระพุทธเจ้าเป็นชั้นสำหรับวางองค์พระอรหันต์ที่นับถือ เช่น พระสังกัจจายน์ พระสีวลี พระอานนท์ และพระโมคคัลลา เป็นต้น
3.พระอริยสงฆ์
หิ้งพระ ในลำดับต่อมาเป็นชั้นสำหรับวางพระอริยสงฆ์ที่เจ้าของบ้านเคารพนับถือ เช่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต เป็นต้น
4.ภาพเหมือนสมมติสงฆ์
ภาพเหมือนพระเกจิอาจารย์ที่เคารพ ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่จะต้องวางบนหิ้งพระที่อยู่ในลำดับลองลงมา
5.พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์
รูปขององค์พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะวางอยู่บนหิ้งพระลำดับรองจากภาพเหมือนสมมติสงฆ์
6.องค์เทพฮินดู
สำหรับเจ้าบ้านที่นับถือองค์เทพฮินดู หากต้องการรูปภาพหรือเทวรูปองค์เทพฮินดูมาวางบนหิ้งพระจะต้องอยู่ในลำดับที่รองลงมา
7.เครื่องบูชา
ชั้นล่างสุดของหิ้งพระเป็นชั้นสำหรับวางเครื่องบูชาพระ เช่น กระถางธูป เชิงเทียน แจกันดอกไม้หรือพานพุ่มและชั้นวางสำหรับวางของคาวหวานสำหรับบูชาพระ
สำหรับลำดับชั้นในการติดหิ้งพระเพื่อวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพควรมีการไล่ลำดับอย่างชัดเจน แต่ละชั้นควรต่างกันอย่างน้อย 5 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อให้แบ่งแยกลำดับ ซึ่งรูปแบบการติดสามารถเลือกติดได้ตามความชอบของเจ้าของบ้าน แต่ถ้าไม่ต้องการให้หิ้งพระมีขนาดที่ใหญ่หรือมีพื้นที่น้อย สามารถมีเพียงพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานของบ้านเพียงองค์เดียวก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก
เทคนิคการเลือกหิ้งพระสำหรับบ้านและคอนโด
หิ้งพระ ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบล้วนมีเอกลักษณ์ความสวยงามที่ต่างกันออกไป การเลือกหิ้งพระให้เหมาะกับบ้านของคุณมีหลักในการเลือกดังนี้
1.แบบของหิ้งพระ
เพื่อความสวยงามของบ้าน คอนโดที่อยู่อาศัย ควรเลือกหิ้งพระให้เหมาะกับสไตล์การตกแต่งของบ้านหรือคอนโด เพราะปัจจุบันนี้รูปแบบของ หิ้งพระ มีให้เลือกหลายแบบหลายสไตล์ตามสมัยนิยม หลายสี หลายแบบ การเลือกหิ้งพระจึงควรเลือกแบบที่เข้ากับสไตล์ของบ้านเพื่อช่วยเสริมให้บ้านดูดีมากยิ่งขึ้น
2.น้ำหนักเบา
วัสดุที่ใช้ในการทำหิ้งพระปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ไม้ แต่ยังมีแบบเป็นกระจก เหล็ก หินอ่อนและอื่น ๆ ซึ่งวัสดุแต่ละแบบจะมีความทนทานและความสวยงามที่ต่างกันออกไป ดังนั้นควรเลือกวัสดุที่ทนทาน มีน้ำหนักพอดีไม่หนักมาก เพราะ หิ้งพระ ต้องติดผนัง หากมีน้ำหนักมากเกินไปมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกมาได้ง่าย
3.ขนาดเหมาะสม
ก่อนที่จะเลือกหิ้งพระจะต้องตัดสินใจก่อนว่า หิ้งพระ ใช้ในการวางพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียวหรือวางพร้อมกับเครื่องบูชาอย่างกระถางธูป เชิงเทียน แจกันดอกไม้ด้วย เพื่อที่จะได้คำนวณขนาดของ หิ้งพระ ที่จำเป็นต้องใช้ได้ เพื่อที่จะหาซื้อขนาดที่พอดี แต่ขนาดของหิ้งพระไม่ควรใหญ่มากเกินไป แต่ให้เปลี่ยนมาเป็นการติดหิ้งพระแบบชั้นแทน เพื่อความสวยงามและความปลอดภัยในการติดหิ้งพระ เนื่องจากหิ้งพระที่มีขนาดใหญ่ย่อมมีน้ำหนักมาก โอกาสที่จะหลุดย่อมมีมากกว่าหิ้งพระที่มีขนาดเล็กน้ำหนักเบา
การติดหิ้งพระแทนการตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระเป็นหนึ่งในรูปแบบการจัดห้องพระที่สวยงามและใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้รูปแบบของหิ้งพระมีความสวยงามและมีให้เลือกหลายขนาดเช่นเดียวกับโต๊ะหมู่บูชา ไม่ว่าจะเป็นหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชาก็สร้างความเป็นสิริมงคลให้กับคนในบ้านได้เช่นกัน เพียงแค่ติดตั้งในตำแหน่งที่เป็นมงคล อย่างไรก็ตาม ใครที่อยู่คอนโดอนันดาก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะคอนโดเราก็มีพื้นที่อันเป็นตำแหน่งเหมาะสมด้วยกันหลายจุดให้คุณสามารถติดตั้งหิ้งพระเสริมสิริมงคลในการอยู่อาศัยได้อย่างลงตัวเช่นกัน