“มะเร็งปากมดลูก” เป็นภัยเงียบที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิง รองจากโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี ซึ่งจากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามะเร็งปากมดลูกได้พรากชีวิตเพศหญิงด้วยจำนวนตัวเลขที่มีมากถึง 4,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 12 คน และยังพบผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 8,000 คนต่อปี เห็นได้ว่ามะเร็งปากมดลูกจึงเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่คุณผู้หญิงต้องเฝ้าระวังและหมั่นตรวจคัดกรองกันอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับสุภาพสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี ถึงแม้ไม่มีอาการใดๆ หรือถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ แนะนำให้ควรรีบพบแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกกะปริบกะปรอยช่วงมีประจำเดือน หรือประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ
- มีของเหลวจากช่องคลอด หรือตกขาว ได้ทั้งลักษณะน้ำและข้น เป็นหนอง มีเลือดปน มีเศษเนื้อปน อาจมีกลิ่นหรือไม่มีก็ได้
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (พบในมะเร็งระยะลุกลามไปกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย)
- ขาบวม ซึ่งอาจหมายถึงมะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่ด้วยกัน 3 วิธี
1. Pap smear (แปปเสมียร์)
เป็นการตรวจที่แพทย์ใช้ไม้พายเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ก่อนนำไปตรวจในแล็บ วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีการตรวจแบบแรกๆเลยก็ว่าได้ ค่าตรวจราคาไม่สูง แต่อาจไม่ได้แม่นยำมากนัก โดยแนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. ThinPrep (ตินเพร็พ)
เป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านช่องคลอด ก่อนจะป้ายเซลล์บริเวณปากมดลูกบางส่วนออกมา เพื่อส่งตรวจอย่างละเอียดที่ห้องปฏิบัติการต่อไป สำหรับหญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปแนะนำตรวจทุกปี (ติดต่อกัน 3 ปี)
3. HPV DNA (เอชพีวี ดีเอ็นเอ)
เป็นการตรวจแบบเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจระดับชีวโมเลกุลที่สามารถค้นหาเชื้อเอชพีวีได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้สามารถป้องกันและรักษาเชื้อเอชพีวีได้ก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำสูง และสามารถเว้นการตรวจซ้ำได้ถึง 5 ปี
แต่ละวิธีมีข้อดีแตกต่างกันไป ลองศึกษาและตัดสินใจว่าคุณจะสะดวกแบบไหนหรือหรือวิธีไหนเหมาะกับเรา