เทคนิคจัดห้องตาม Ergonomics (การยศาสตร์) ผสานการใช้ชีวิตกับสรีระให้ลงตัว

HIGHLIGHTS

  • จัดระเบียบห้องนอนให้สุขภาพดีตามหลัก Ergonomics
  • ที่นอนต้องคำนึงถึงสรีระเป็นหลัก ต้องเลือกความสูงที่พอดีทำให้กระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพกไม่โค้งระหว่างนอน
  • โซนทำงาน ควรเลือกโต๊ะที่ระดับความสูงพอดี 75 -120 ซม. ช่วยให้ไม่ปวดหลัง
  • ห้องนั่งเล่น เพิ่ม Leg Support ให้กับโซฟาสักหน่อย เพื่อรองรับสรีระให้สบายยิ่งขึ้น
  • ห้องควรอย่าลืมลองไปยืนยกข้อศอกวางบนเคาน์เตอร์ดูว่ามีความเมื่อยมากน้อยขนาดไหน

 

ในช่วงปีที่ผ่านมาหลายๆ คนมักจะได้ยินคำว่า Ergonomics (การยศาสตร์) ในรูปแบบของการจัดโต๊ะทำงาน เก้าอี้ทำงาน หรือเบาะรองนั่งในรถยนต์ แต่จริงๆ แล้วหลัก Ergonomics เป็นศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อม โดยอาศัยหลักความรู้ และข้อมูลจากหลากหลายสาขาผสานเข้าด้วยกัน เช่น สรีรวิทยา, กายวิภาคศาสตร์, จิตวิทยา, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และกลศาสตร์วิศวกรรม เพื่อออกแบบ และจัดสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ Ergonomics ก็จะหมายถึงการออกแบบที่เกี่ยวพันกับการศึกษารูปร่าง, ขนาดร่างกาย, การเคลื่อนไหว, แสงสี, ความร้อน, ประสาทสัมผัส และพฤติกรรมการใช้ชีวิตจริง โดยนอกจากบนโต๊ะทำงานแล้ว เรายังสามารถนำหลักการนี้มามิกซ์กับการออกแบบห้องภายในคอนโดได้ เพื่อลดการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ขณะใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดนั่นเอง

วิธีการจัดห้องนอน: สำหรับคนที่มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ, ปวดหลัง, ปวดคอ, ปวดสะโพก รวมไปถึงบาดเจ็บเพราะเตะเฟอร์นิเจอร์ วันนี้เราลองมาแก้ปัญหาโดยจัดระเบียบห้องนอนใหม่ตามหลัก Ergonomics กัน

  • ที่นอน การเลือกที่นอนต้องคำนึงถึงสรีระเป็นหลัก ควรรองรับความโค้งของกระดูกสันหลัง ไหล่ สะโพก และส้นเท้า ไม่ควรแข็งหรือนุ่มจนตัวเราโค้งลงไป รวมถึง หมอน ที่ต้องเลือกความสูงที่พอดีทำให้กระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพกไม่โค้งระหว่างนอน
  • อุณหภูมิ ถ้าอิงตามหลักนาฬิกาชีวิตตอนเรานอนหลับร่างกายจะมีอุณหภูมิต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้นก่อนนอนไม่ควรปรับอากาศให้หนาวไป หรือร้อนไป เพราะร่างกายเกิดการผิดเพี้ยน ทำให้เราหลับไม่สบายจนต้องลุกขึ้นมากลางดึก
  • แสงสว่าง ในเวลากลางคืน แสง จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และยับยั้งการปล่อยฮอร์โมนเมลาโทนินที่ทำให้เรานอนหลับสบาย ดังนั้นห้องนอนควรมีม่านทึบแสงที่ยาวครอบคลุมหน้าต่างจรดพื้น และมีสวิตช์ไฟแยกเพื่อปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นก่อนนอน 1 ชม. ส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าคุณกำลังจะเข้านอน ที่สำคัญไม่ควรเล่นมือถือก่อนนอน
  • สีสันภายในห้อง ในห้องนอนแนะนำให้เลือกใช้สีโทนเย็น เช่น สีฟ้า สีน้ำเงิน สีเทา สีน้ำตาล สีเหลืองอ่อน ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับสบายมากขึ้น

วิธีการจัดโซนทำงาน: หากคอนโดของใครกลายเป็นสถานที่ Work From Home เป็นหลัก โซนห้องทำงานก็จะเกิดขึ้น และถูกใช้เป็นเวลานานทุกวัน ดังนั้นเราก็ไม่ควรพลาดที่นำหลัก Ergonomics มาจัดระเบียบเพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรมดังนี้

  • โต๊ะ ควรเลือกที่ขนาดเหมาะสมต่อการใช้งาน ถ้าใช้อุปกรณ์เยอะก็ควรเลือกโต๊ะขนาดใหญ่ ระดับความสูงพอดี 75 -120 ซม. เพราะหากสูงเกินไปจะทำให้เราต้องยกไหล่จนมีอาการปวดได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการออกแบบให้โต๊ะปรับระดับได้สะดวกต่อการใช้งาน และเปลี่ยนท่าการทำงานได้สบายมากขึ้น
  • เก้าอี้ เลือกจากความสูงของเก้าอี้ โดยนั่งแล้วขาต้องทำมุมได้ 90 องศา วางฝ่าเท้าลงพื้นได้เต็มเท้า ในส่วนของพนักพิงต้องรองรับแผ่นหลังได้จนชิด มีที่วางแขนในระดับเหมาะสมป้องกันการเกร็งกล้ามเนื้อขณะใช้งาน
  • จอมอนิเตอร์ หรือจอคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค ควรตั้งให้ห่างจากสายตาในระยะ 45 ซม. ตำแหน่งเม้าส์ และคีย์บอร์ดควรต่ำลงมาเล็กน้อยเพื่อป้องกันการยกและเกร็งกล้ามเนื้อขณะใช้งาน
  • แสงสว่าง เนื่องจากแสงส่งผลต่ออารมณ์ในการทำงาน หากแสงน้อยจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า และเพลียได้ ดังนั้นเราควรจัดวางโซนทำงานให้เปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเพียงพอ

วิธีการจัดห้องนั่งเล่น: ห้องเล่นๆ แต่ใช้เวลานานจัดเต็มใช้ได้ ถ้าไม่อยากปวดหลัง หรือนั่งไม่สบายแนะนำให้ลองจัดระเบียบเฟอร์นิเจอร์ จัดมุมองศาต่างๆ เพื่อรองรับการเคลื่อนไหวของสรีระได้อย่างดี

  • โซฟา ที่นั่ง ควรเลือกโซฟาที่ไม่แข็ง และนุ่มจนเกินไป มีซัพพอร์ตหลัง, สะโพก, ข้อศอก และถ้าอยากสบายมากขึ้น เพิ่ม Leg Support ให้กับโซฟาสักหน่อย
  • ระยะวางโทรทัศน์ ควรวางให้อยู่ในระดับสายตาพอดี และหากคุณมีทีวีขนาด 42 นิ้วขึ้นไป ควรมีระยะห่างจากจุดนั่งดูประมาณ 150 ซม. ขึ้นไป ดังนั้นการเลือกขนาดทีวีจึงต้องสัมพันธ์กับขนาดห้องนั่นเอง
  • แสงสว่าง ในห้องนั่งเล่นนอกจากจะมีไฟ Day Light ที่ให้ความสว่างทั่วห้องแล้ว ควรเปิดช่องแสงเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้อย่างเพียงพอเช่นกัน แน่นอนว่าดีต่ออารมณ์ผู้อาศัย และประหยัดไฟในเวลากลางวันอีกด้วย

วิธีการจัดห้องครัว: เป็นอีกหนึ่งโซนในคอนโดที่หลายคนมักเจอปัญหาในการใช้งาน เช่น เคาน์เตอร์สูงไป ทำให้เกร็งกล้ามเนื้อจนปวดไหล่ หรือ Built in ชั้นวางของที่สูงจนต้องเอื้อมสุดมือ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย วันนี้เรามาลองดูกันว่าจะช่วยจัดระเบียบตามหลัก Ergonomics ยังไงได้บ้าง

  • เคาน์เตอร์ครัว ก่อนเลือกทำ Built in ห้องควรอย่าลืมลองไปยืนยกข้อศอกวางบนเคาน์เตอร์ดูว่ามีความเมื่อยมากน้อยขนาดไหน ซึ่งตามมาตรฐานเคาน์เตอร์ควรสูง 85 – 110 ซม. (ปรับตามความสูงผู้ใช้งาน) ความลึก 60 ซม. มีระยะกันเตะ 10 ซม. และลึก 5 ซม.
  • ตำแหน่งการจัดวาง สำหรับการจัดวางมีมาตรฐานอยู่ว่าควรเว้นระยะพื้นที่ข้างหัวเตาไม่น้อยกว่า 45 ซม. เพื่อวางภาชนะ เตรียมวัตถุดิบได้สะดวก ในส่วนพื้นที่อ่างล้างจาน ด้านข้างควรเว้นระยะ 75 ซม. สำหรับวางจานที่ล้างแล้ว และสำหรับเครื่องดูดควันควรติดตั้งให้สูงจากท็อปครัวอย่างน้อย 60 ซม. (ปรับระดับตามความสูงผู้ใช้งาน)
  • แสงสว่าง ในห้องครัวสำคัญไม่แพ้ห้องไหนๆ ควรเลือกทั้งไฟที่ส่องสว่างได้ทั่วห้อง และไฟเฉพาะจุดเพื่อให้แสงสว่างมากพอ เช่น โซนเตา, โซนอ่างล้างจาน รวมไปถึงในตู้ต่างๆ ก็ควรมีไฟเพื่อการหยิบจับที่สะดวก
  • ระยะการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ตู้เก็บของ หรือสิ่งของในครัว ควรจัดให้ชิดผนังและมีพื้นที่ทางเดินไม่น้อยกว่า 75 ซม. เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเตะเฟอร์นิเจอร์ในห้องครัว

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top