สดชื่นไปกับ ‘เมนูคลายร้อนของไทย’ และสตอรี่เพลินใจ

อากาศร้อน ๆ ของประเทศไทยก็ต้องคู่กับเมนูคลายร้อน ทานแล้วชื่นใจ สดชื่นหลากหลายเมนู แต่…เมนูคลายร้อนที่ Ananda รวมมาให้ทุกคนในวันนี้ จะไม่ได้มีการอธิบายสูตร ไม่ได้มีวิธีการทำ แต่เราจะพาทุกคนมาสัมผัสกับเรื่องเล่า-ตำนานของแต่ละเมนูที่เพลินใจในช่วงหน้าร้อนนี้

ข้าวแช่ เมนูคลายร้อนตำรับโบราณไทย

เมื่อเข้าถึงฤดูร้อนเมื่อไหร่ ชาว Gen C น่าจะเคยได้ยินชื่อ ‘ข้าวแช่’ เมนูโปรดของแม่หรือญาติผู้ใหญ่ในบ้าน โดยลักษณ์ของเมนูข้าวแช่จะมีองค์ประกอบรวมกันดังนี้ ข้าวหอมมะลิหุงสุก, น้ำลอยดอกไม้, เครื่องเคียงต่าง ๆ อาทิ ลูกกะปิ, พริกหยวกยัดไส้, ผักกาดเค็มหวาน, หัวหอมสอดไส้ หรือเนื้อฝอยผัดหวาน เป็นต้น ซึ่งข้าวแช่มีต้นกำเนิดจากอาหารพื้นบ้านของชาวมอญนิยมทำสังเวยเทวดาและถวายพระสงฆ์ในช่วงตรุษสงกรานต์ โดยมีเรื่องเล่าถึงเจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมเชื้อสายมอญที่ได้ถ่ายทอดวิธีการทำข้าวแช่ให้แก่ห้องเครื่องระหว่างติดตามไปราชการที่จังหวัดเพชรบุรี และมีการนำมาปรับปรุงสูตรเพิ่มเติมจนกลายเป็น ข้าวแช่ชาววัง ที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 รวมไปถึงเป็นสูตรที่นิยมกันมาถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ลอดช่องสิงคโปร์ เมนูคลายร้อนหน้าโรงหนัง

ลอดช่องสิงคโปร์ เมนูคลายร้อนที่คนไทยฮิตแต่คนสิงคโปร์อาจจะไม่รู้จัก โดยลักษณะของลอดช่องสิงคโปร์จะมีความหอมหวาน เนื้อสัมผัสหนุบหนับพอให้เคี้ยวเพลิน และถ้าจะให้ดีเติมน้ำแข็งเพิ่มเล็กน้อยเพื่อความชื่นใจขั้นสุด แม้ในตำนานประวัติของ ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ ยังไม่มีบทสรุปถึงที่มาของชื่อ ‘สิงคโปร์’ แต่ก็มีจุดไฮไลต์ที่พอจะทำความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

  • เริ่มจากการทำแป้งของลอดช่องที่ใช้ แป้งมันสำปะหลัง ซึ่งแตกต่างจากลอดช่องไทยที่ใช้แป้งข้าวเจ้า, แป้งข้าวเหนียวเป็นหลัก ซึ่งในสมัยก่อนไทยยังต้องนำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากสิงคโปร์เข้ามา จึงอาจเป็นที่มาของชื่อ ลอดช่องสิงคโปร์ ในประเทศก็เป็นได้
  • สิงคโปร์โภชนา เป็นชื่อร้านที่ขายเมนู ลอดช่องสิงคโปร์ เป็นเจ้าแรกในไทย ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่คนเรียกติดปากระหว่างชื่อร้านกับเมนูก็ได้เช่นกัน
  • โรงหนังสิงคโปร์ เป็นย่านที่ตั้งร้านสิงคโปร์โภชนาตั้งอยู่ ซึ่งอยู่บนถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราชนั่นเอง

ซึ่งจากตำนานทั้งหมดเพื่อน ๆ หลายคนก็อาจจะยังคงมีความสงสัยถึงชื่อเมนู แต่เรื่องที่ไม่ต้องสงสัยเลยคือความอร่อย หวานหอม เป็นเมนูคลายร้อนที่ต้องไม่พลาดเลยทีเดียว

ข้าวเหนียวมะม่วง เมนูคลายร้อนหวานฉ่ำของสยามประเทศ

ข้าวเหนียวมะม่วง เมนูคลายร้อนที่ไม่ต้องมีน้ำแข็งอยู่ในเมนู แต่กลับชูจุดเด่นความสดชื่นได้อย่างดีด้วยผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวและความชุ่มฉ่ำ แล้ว ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยไหนกัน? จากประวัติไม่มีระบุช่วงเวลาที่แน่ชัด แต่หลายคนคาดการณ์ว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยอ้างถึงโคลงกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่กล่าวถึงข้าวเหนียวมูนไว้ดังนี้ ‘สังขยาหน้าตั้งไข่ ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง เป็นนัยไม่เคลือบแคลง แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ’ หรือกล่าวถึงมะม่วงอกร่องไว้ว่า ‘หวนห่วงม่วงหมอนทอง อีกอกร่องรสโอชา คิดความยามนิทรา อุราแนบแอบอกอร’ แต่ไม่มีการกล่าวถึงข้าวเหนียวมะม่วงแบบทานรวมกัน และในช่วงรัชกาลที่ 5 ก็มีประวัติกล่าวว่ามีการทานข้าวเหนียวมูนกับผลไม้ ซึ่งก็เป็นวิธีการทานที่มีมาแต่โบราณที่มักทานข้าวเหนียวมูนคู่กับผลไม้ของไทยหลากหลายชนิดด้วยเช่นกัน

ไอติมกะทิโบราณ เมนูคลายร้อนที่เคยมีเฉพาะในรั้ววัง

ไอติมกะทิโบราณ เมนูคลายร้อนที่อยู่ในเช็กลิสต์ต้น ๆ ของคนไทยอย่างแน่นอน โดยลักษณะของไอติมกะทิที่ตักเป็นก้อนเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียง อาทิ ลูกชิด, ลอดช่อง, ขนุนฉีก, ฟักทองเชื่อม หรือถั่วลิสง เป็นต้น ซึ่งจากตำนานและประวัติของ ไอติมกะทิ มีการกล่าวถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยนำเข้าน้ำแข็งและเครื่องทำน้ำแข็งจากสิงคโปร์ ซึ่งในช่วงแรกมีการทำไอติมมะพร้าวที่ทำจากมะพร้าวอ่อน มีลักษณะเกล็ดน้ำแข็งและโรยด้วยเม็ดมะขามคั่ว ต่อมาพัฒนาโดยการทำไอติมจากวัตถุดิบนำเข้า เช่น นมและครีม มาผลิตเป็นไอติม แต่เนื่องด้วยวัตถุดิบเป็นการนำเข้าทั้งหมด ราคาไอติมจึงแพงมากและทานกันได้เฉพาะเจ้าขุนมูลนายในวังเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อมีโรงงานน้ำแข็งในไทยเกิดขึ้น ชาวบ้าน จึงปรับเปลี่ยนวัตถุดิบนำ กะทิ มาใช้แทนนมและครีมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ไอติมกะทิแพร่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ทับทิมกรอบ เมนูคลายร้อนชาวบ้านสู่ชาววัง

ทับทิมกรอบ ด้วยสีสันที่สดใสชวนน่าทาน มาพร้อมความหอมหวานจากกะทิอบควันเทียน และเครื่องเคียงที่เสริมกันในทุกคำ ซึ่งจากประวัติบอกเล่าว่า ในอดีตทับทิมกรอบเป็นเพียงขนมหวานทั่วไปของชาวบ้านในประเทศไทย แต่ในหนึ่งวันพระอัครชายาในรัชกาลที่ 5 ได้นำสูตรทับทิมกรอบของชาวบ้านมาพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น จากนั้นได้นำไปทูลถวายเป็นหนึ่งในสำรับ จนกลายเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก จากนั้นทับทิมกรอบสูตรชาววังได้เผยแพร่ไปทั่วและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับทับทิมกรอบมาตั้งแต่สมัยใด แต่มีการบันทึกว่าทับทิมกรอบเป็นที่รู้จักในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการสันนิษฐานว่าต้นกำเนิดอาจอยู่ในช่วงเวลานั้นได้

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top