เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษ์โลก

การรักษ์โลก หรือวิถีการดูแลโลกให้ยั่งยืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้ง ‘เทรนด์การรักษ์โลก’ ที่เราเคยเข้าใจกันนั้น ณ ปัจจุบันกลับไม่ได้ส่งผลที่ดีต่อโลกสักเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดซะทีเดียว เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้ ลองมาดูกันว่าเรากำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับอะไรบ้าง?

Eco Bag: เมื่อถุงผ้าไม่ใช่เดอะแบกช่วยโลก (อีกต่อไป)

ถุงผ้าหรือ ‘Eco Bag’ เคยเป็นสัญลักษณ์ของการรักษ์โลกและการลดใช้ถุงพลาสติก แต่ในความเป็นจริงการใช้ถุงผ้าอาจไม่ช่วยลดโลกร้อนอย่างที่หลายคนคิด เพราะการผลิตถุงผ้าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานมากกว่าการผลิตถุงพลาสติกทั่วไป และด้วยปัจจุบันการจำหน่ายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวมีถุงผ้าในบ้านไม่น้อยกว่า 10 ใบเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ถุงผ้าไม่ใช่ทางออกของโลกร้อนถ้ายังผลิตถุงผ้ามาใช้จำนวนมาก 

เพราะถุงผ้า Eco Bag จำเป็นต้องใช้งานถึง 131 ครั้ง เพื่อชดเชยพลังงานและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเทียบกับถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ดังนั้นหากเพื่อน ๆ มีถุงผ้าหลายใบที่ใช้งานไม่บ่อย การผลิตและการใช้งานถุงเหล่านั้นอาจสร้างผลกระทบมากกว่าการใช้ถุงพลาสติกเสียอีก

รักษ์โลกไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเสมอนะ

หลายคนอาจคิดว่าการรักษ์โลกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมากในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ แต่ความจริงแล้ว การรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเลย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้โดยไม่ต้องเสียเงินมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ลดการใช้พลังงาน, ใช้ของระยะยาวขึ้น หรือบริโภคเท่าที่จำเป็น ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดโลกร้อนได้ง่าย ๆ แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ 

ย่อยสลายได้เองไม่มีจริง 

การย่อยสลายได้เองที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด แม้สินค้าจะติดฉลากว่า ‘ย่อยสลายได้เอง’ แต่การย่อยสลายนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพแวดล้อม, ความชื้น, แสงแดด และอุณหภูมิ หรือบางครั้งวัสดุที่ย่อยสลายได้ในห้องทดลอง ก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติจริง ๆ ทุกอย่างจึงมีปัจจัย ไม่ใช่ว่าย่อยสลายได้เองเสมอไป

กระทงขนมปัง ดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่? 

ในเทศกาลลอยกระทง เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะมองหา ‘กระทงขนมปัง’ เพื่อเป็นทางออกที่ดีต่อโลก แต่กลับกลายเป็นผิดโจทย์เพราะว่ากระทงขนมปังมีสิทธิ์พังระบบนิเวศได้ หากทิ้งในแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสมหรือมีปริมาณมากเกินไป ขนมปังที่ไม่ได้กินอาจทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะเมื่อสลายตัวจะเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพน้ำและสัตว์น้ำในระยะยาว นอกจากนี้ การทิ้งกระทงขนมปังในที่ที่ไม่มีปลาหรือสัตว์น้ำจะทำให้ขนมปังเหล่านั้นกลายเป็นขยะในธรรมชาติ ดังนั้น การเลือกกระทงที่เหมาะสมและการทิ้งในสถานที่ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top