NOTE:
– บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร INRIX เผยรายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลก ประจำปี 2016 หรือ Global Traffic Scorecard Report บ่งชี้ว่าไทยเป็นประเทศรถติดมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยคนไทยในแต่ละเมืองทั่วประเทศเสียเวลาเฉลี่ยราว 61 ชั่วโมงต่อปีไปกับรถติดบนถนน ตามด้วยประเทศโคลอมเบียและประเทศอินโดนีเซียซึ่งคนเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 47 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่รัสเซียและสหรัฐฯ เสียเวลากับรถติดประมาณ 42 ชั่วโมงต่อปี
ในช่วงที่รถไฟฟ้าหลายสายกำลังเริ่มต้นก่อสร้าง และมีการปิดเส้นทางบางแห่ง สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของเหล่าผู้ใช้รถใช้ถนน คือการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะในปี 2560 ที่อยู่ในช่วงของการทำแผนพัฒนาระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างผลกระทบกับการจราจรด้วยการปิดถนนถึง 10 สาย โดยจะเริ่มตอกเสาเข็ม ก่อสร้างกันในปีนี้ทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ลองมาตรวจสอบเส้นทางการเดินรถอีกครั้ง จะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางได้ดีครับ
เส้นทางรถติดจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม–มีนบุรี ที่เริ่มตอกเสาเข็มตอม่อทางวิ่งรถไฟฟ้ากันที่บริเวณเกาะกลางถนนรามคำแหง 2 จุด ที่ซอยรามคำแหง 135 ด้านหน้าโรงเรียนศิริเพ็ญ และ 157 หน้าหมู่บ้านธารารมณ์ ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยปิดช่องขวาสุดชิดเกาะกลางฝั่งละ 1 ช่องเหลือฝั่งละ 2 ช่องจากที่มีฝั่งละ 3 ช่อง จึงทำให้รถติดในช่วงการก่อสร้างดังกล่าว
และในอนาคตคาดว่า จะต้องทำการปิดสะพานยกระดับรามคำแหงขาเข้านาน 45 เดือน เนื่องจากเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้างผนังอุโมงค์ ทำให้มีกระทบต่อพื้นผิวจราจรโดยเฉพาะบริเวณ สถานีรถไฟฟ้า 4 สถานี ได้แก่ บริเวณเกาะกลางถนนหน้าเดอะมอลล์รามคำแหง เกาะกลางถนนหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย ใต้สะพานยกระดับ และบริเวณหน้าโรงแรมอเล็กซานเดอร์ ทางโครงการจะทำการลดทางเท้า เพื่อขยายช่องจราจรเพิ่มอีก 1 ช่องจราจร จากถนน 4-5 ช่องจราจร เพื่อลดผลกระทบรถติดที่จะเกิดขึ้น โดยจะปิดสะพานยกระดับรามคำแหงเป็นระยะเวลา 45 เดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. นี้เป็นต้นไป
เส้นทางรถติดจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย สีชมพู – เหลือง
สำหรับ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว–สำโรง มีกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โอลดิ้งส์, บมจ. ซิโน–ไทยฯ และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารการเดินรถของทั้งโครงการ
ด้านการเริ่มงานก่อสร้างขึ้นอยู่กับความพร้อมเอกชน จะต้องออกแบบรายละเอียด รวมถึงขออนุญาตกรมทางหลวงและ กทม.เข้าพื้นที่ก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มได้ปลายปีนี้ และสร้างเสร็จเปิดปี 2563
เส้นทางรถติดจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ช่วงลาดพร้าว–สำโรง เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมราง โดยในช่วงลาดพร้าว–สำโรง จะใช้แนวก่อสร้างถนนลาดพร้าว ซึ่งเป็นถนนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของรถติดเป็นอันดับต้นๆ และในช่วงห้าแยกลาดพร้าวยังทำการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต) อยู่ก่อนแล้ว ยิ่งทำให้รถติดหนักเข้าไปใหญ่
นอกจากนี้แนวรถไฟฟ้ายังทับซ้อนสะพานข้ามแยกบางกะปิของ กทม. กับเสาตอม่อรถไฟฟ้า สถานีหน้าเดอะมอลล์บางกะปิ ของ รฟม.ที่จะก่อสร้างใหม่ซึ่งเดิม รฟม.จะก่อสร้างเสาตอม่อด้วยการถ่างสะพานบางกะปิออกแล้วปักเสาตอม่อตรงกลางตลอดแนว แต่ กทม. มองว่าระยะปักเสาที่ห่างกันเพียง 15 เมตรถี่เกินไป จึงได้ข้อสรุปให้ทุบสะพานข้ามแยกบางกะปิและสร้างใหม่พร้อมกับรถไฟฟ้า ซึ่งนี่จะเป็นอีกจุดการก่อสร้างที่ทำให้รถติด ระหว่างที่ทำการทุบสะพานและสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่
เรียกว่าเตรียมตัวเตรียมใจกันให้ดีกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย เพราะใช้แนวการก่อสร้างบนถนนรามคำแหง พระราม 9 ลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา รวมถึงถนนเส้นรองอีกหลายสาย ซึ่งมีปัญหารถติดสะสมอยู่ก่อนแล้ว แต่เพื่ออนาคตที่สดใสก็อาจจะต้องทำใจกันสักนิด หรือหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบของปัญหารถติดที่จะเพิ่มขึ้นในระหว่างรอการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายแล้วเสร็จ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: https://www.estopolis.com