เอาตัวรอดอย่างไรในสถานการณ์เงินเฟ้อ

ธนาคารแห่งประเทศไทยให้นิยามเงินเฟ้อไว้ว่า “ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน” และข่าวร้ายก็คือเมื่อเดือนพฤษภาคนที่ผ่านมา เงินเฟ้อในประเทศไทยพุ่งขึ้นไปแตะร้อยละ 7.1 หรือสูงสุดในรอบ 24 ปีเนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ เกื้อหนุนอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องสงคราม วิกฤตราคาพลังงาน และความต้องการสินค้าและบริการของประชาชนที่สูงขึ้น และเมื่อเงินเฟ้อ ของก็แพงขึ้น และส่งผลให้เงินของเราลดลงจนอาจจะไม่พอใช้ แล้วเราจะรอดจาดสถานการณ์นี้อย่างไรล่ะ ลองไปดูกัน

ลดบิลให้เหลือน้อยที่สุด

รายจ่ายตามบิลเป็นอะไรที่ทำให้เราปวดหัวได้ตลอดเวลา และยิ่งมีบิลสุมกันในบ้านมากเท่าไหร่ความเครียดของเราจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทางที่ดีคือเริ่มตรวจสอบอย่างจริงจังว่า รายจ่ายจริงๆ ต่อเดือนของเรามีอะไรบ้าง อะไรที่เราต้องจ่ายประจำ มียอดไหนที่สูงโดดหรือยอดไหนที่เราแทบลืมไปแล้วว่ากำลังจ่ายอยู่ (โดยเฉพาะเหล่าค่าบริการที่ตัดผ่านบัตรเครดิต) และสุดท้ายถึงเวลาต้องทบทวนว่าบริการที่จะได้อยู่กับเราต่อ หรืออะไรที่เราควรพักไว้ก่อนในวิกฤตแบบนี้

ประหยัด

คำสั้นๆ แต่หนักหนาสาหัส ด้วยความแตกต่างของปัจจัยเราคงไม่บอกว่าทุกคนต้องประหยัดขึ้น เพียงแค่ถ้าทำได้คุณควรจะหันมาดูว่าอะไรจะทำให้ค่าน้ำค่าไฟเราลดลงได้บ้างไหม เราเปิดน้ำทิ้งบ่อยเกินไป ซักผ้าบ่อยเกินไป เปิดไฟทั่วบ้านจนเป็นนิสัย หรือเปิดแอร์ในห้องที่ไม่มีคนอยู่รึเปล่า อย่าลืมตรวจดูว่ามีท่อรั่ว หรือประตูห้องที่ปิดไม่สนิททำให้แอร์ไหลออกบ้างไหม พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจส่งผลให้ตัวเลขค่าน้ำค่าไฟเราลดลงได้พอสมควร และจะส่งผลดีกับค่าจ่ายเราในแต่ละเดือนด้วย

เพิ่มรายได้

วิธีการที่จะรับมือกับเงินเฟ้อได้ดีอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มรายได้ ลองใช้เวลาว่างทบทวนว่าคุณมีความสามารถอะไรที่ใช้หารายได้เพิ่มได้บ้าง อาจจะไม่มากแต่ก็พอนำมาจับจ่ายได้ แน่นอนว่าต้องเป็นงานที่ไม่ใช้ทุนสูงหรือกินเวลาจากการงานประจำมากเกินไปนัก หรือหากมีงานอดิเรกอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็ลองดูว่าสามารถนำมาต่อยอดทำขายได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้คุณบริหารเวลาทั้งงานหลัก เวลาของครอบครัว เวลาพักผ่อน และงานเสริมให้ได้ มิฉะนั้นเงินที่ได้มาอาจจะรู้สึกไม่คุ้มก็ได้

วางแผนการเดินทาง

ไม่จำเป็นต้องย้ำเรื่องค่าน้ำมันกันอีกแล้ว เพราะมันอาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกตลอดกาลก็ได้ สิ่งที่เราทำได้คือวางแผนการใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าที่สุด คนส่วนมากต้องออกไปทำงาน และหากหันไปใช้รถโดยสารสาธารณะก็อาจจะลำบากและเปลืองมากกว่า ฉะนั้นการขับรถทุกวันก็ไม่ผิดอะไร เพียงแต่คุณต้องลดการขับรถออกนอกเส้นทางให้น้อยลง ลดการออกจากบ้านในวันหยุด เช่น คุณอาจจะเคยออกไปเที่ยวหรือซื้อของทุกสุดสัปดาห์ ลองเปลี่ยนเป็นสัปดาห์เว้นสัปดาห์ก็ไม่เลวนะ หรือวางแผนว่าจะไปไหน ซื้ออะไร เพื่อให้ออกจากบ้านครั้งหนึ่งได้ของมากที่สุด ดีกว่าการไปหลายๆ รอบแน่นอน

เลือกชอปปิ้งอย่างคุ้มค่า: ถึงเวลาที่เราต้องเดินซูเปอร์มาร์เก็ตกันอย่างระมัดระวังมากขึ้นแล้ว เพราะนอกจากที่เราจะลดจำนวนการมาซื้อของน้อยลง ของแต่ละชิ้นที่เราจะหยิบใส่รถเข็นก็ต้องเป็นของที่เราใช้ได้หรือสามารถรับประทานได้หมดจริงๆ หากเป็นสินค้าที่มีหลายยี่ห้อ เราอาจจะลองเลือกแบบที่ราคาย่อมเยาลงมาแต่พอใช้แทนกันได้ (ช่วงนี้คงต้องลดมาตรฐานลงมาสักนิดก่อน) นอกจากนี้ลองเลือกซื้ออาหารแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารแช่แข็งเก็บไว้ เพราะในเวลาจวนตัวเราก็ยังมั่นใจได้ว่าพอมีอาหารติดบ้านไว้อยู่

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top