แวะเยือน 5 ปราสาทหินของไทย ความยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา

ปราสาทหินคือหลักฐานความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของอาณาจักรขอมในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-18 โดยพวกขอมได้เรืองอำนาจและสร้างเทวสถานไว้มากมายทั่วแผ่นดินอุษาคเนย์แห่งนี้ และปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีปราสาทหินดังกล่าวอยู่หลายที่ วันนี้เราอยากชวนชาว GEN C ไปออกทริปประวัติศาสตร์ด้วยกัน เพื่อชื่นชมความงามของปราสาทหินที่สร้างจากแรงศรัทธาของบรรพชนโบราณ และตั้งตระหง่านผ่านร้อนผ่านหนาวมาให้เราได้อนุรักษ์ไว้ในวันนี้

ปราสาทหินพิมาย

หนึ่งในปราสาทหินที่โด่งดังและยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยปราสาทที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์และโลกมนุษย์ แผนผังของปราสาทจำลองมาจากเขาพระสุเมรุในเทวตำนานที่ได้อิทธิพลมาจากอินเดีย ปราสาทองค์ประธาน ณ ใจกลางโบราณสถานนี้จะเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมต่อกับระหว่างสวรรค์กับโลก นอกจากนี้จุดอื่นๆ ที่ควรเยี่ยมชมคือ ซุ้มประตู กำแพงแก้ว ระเบียงคด ปรางค์พรหมทัต บรรณาลัย และ พลับพลาเบื้องเครื่อง ในอุทยานยังมีพิพิธภัณสถานแห่งชาติให้เข้าไปศึกษาอีกด้วย

ปราสาทสด๊กก๊อกธม

ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดแห่งภาคตะวันออก ตั้งอยู่ในอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โบราณสถานแห่งนี้เป็นอารยธรรมขอมซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู ชื่อ “สด๊กก๊อกธม” เป็นภาษาเขมรหมายถึง เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่ และแม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี เราก็ยังเห็นที่มาของชื่อได้อยู่รอบๆ บริเวณที่ตั้งปราสาทนั่นเอง ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของปราสาทแห่งนี้คือ ได้มีการขุดค้นพบศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 2 ซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ของขอมที่มีระยะยาวนานกว่า 200 ปี

ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทหินในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีชื่อเสียงในลำดับต้นๆ เลยทีเดียว เนื่องจากปรากฏการณ์สุดมหัศจรรย์ที่แสงอาทิตย์จะลอดผ่านประตูทั้ง 15 บาทของปราสาทแสดงให้เห็นคงภูมิปัญญาโบราณทางวิศวกรรมที่โลกปัจจุบันยังทำได้ยากยิ่ง ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 4 ครั้งเท่านั้น ปราสาทพนมรุ้งสันนิษฐานว่าสร้างระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 เพื่อบูชาแด่พระศิวะเทพเจ้าแห่งศาสนาฮินดู นอกจากนี้อีกหนึ่งเรื่องราวของโบราณสถานแห่งนี้คือ การทวงคืนทันหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่เคยถูกโจรกรรมและไปอยู่ในต่างประเทศ ปัจจุบันทับหลังองค์ดังกล่าวได้กลับคืนสู่ปราสาทให้เราได้ชมกันแล้ว

ปราสาทเมืองสิงห์

ปราสาทหินอารยธรรมขอมแห่งเดียวในภาคตะวันตก ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยก จังหวัดกาญจนบุรี สันนิษฐานมีอายุในยุคเดียวกับนครวัด มีขนาดพื้นที่กว้าง 800 เมตร ยาว 850 เมตร มีกำแพงสูง 7 เมตร เป็นเทวสถานโอ่โถงสวยงาม ในพื้นที่ปราสาทเมืองสิงห์นี้ได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุและเทวรูปหลายชิ้น อาทิ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา และ รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ปัจจุบันตัวปราสาทยังมีความสมบูรณ์อยู่มากและมีเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์น่าไปเยี่ยมชม

ปราสาทเมืองต่ำ

ตั้งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณพื้นราบด้านล่างขึ้นเขาพนมรุ้ง มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาท 5 องค์ล้อมรอบด้วยหมู่บ้าน และด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ต่ำนี้เองทำให้ชาวบ้านเรียกชื่อโบรณาสถานแห่งนี้ว่าปราสาทเมืองต่ำ นี่เป็นอีกหนึ่งเทวสถานที่สร้างตามคติของศาสนาฮินดูโดยวางแผนผังสัดส่วนได้ลงตัวตามจักรวาลคติ สถาปัตยกรรมของที่นี่สะท้อนถึงความเอกอุในฝีมือของช่างโบราณ ไม่ว่าจะเป็นความสวยและขนาดที่ลงตัวพอดิบพอดี จุดเด่นที่น่าชมคืองานปั้นนาคที่ขอบสระซึ่งเป็นศิลปะบาปวนแท้สังเกตได้จากการไม่มีรัศมีบนเศียรซึ่ฃหาดูได้ยากยิ่ง

 

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top