NOTE:
– รถไฟฟ้ารางเดี่ยวเกิดจากความคิดของวิศวกรชาวสวีเดน ประมาณ ค.ศ. 1952 ชื่อเอ็กเซล เกร็น (Axel L. Wenner Gren) ออกแบบครั้งแรกเป็นการทดลองในเยอรมนีเป็นแบบคร่อมราง (Straddle Type) ขนาดเล็กวิ่งบนรางยาว 1.5 กิโลเมตร ขยายต่อมาใน ค.ศ.1957 เป็น 1.8 กิโลเมตร ที่เมืองฮุลิงเก้น (Huhlingen, Germany) ได้รับการตั้งชื่อว่าเป็นระบบแอลเว็ก (ALWEG) ตามชื่อย่อของวิศวกรผู้ออกแบบ
อีกไม่นานเกินรอเราก็จะได้ใช้รถไฟโมโนเรลสายสีชมพู-เหลืองในบ้านเรากันสักที หลังจากรถไฟฟ้าเปิดจุดเส้นทางเดินรถให้ทราบกันตั้งแต่ต้นปี แต่ความพิเศษของสายนี้ใช้ระบบรถไฟแบบโมโนเรล หรือเรียกง่ายๆ ว่ารถไฟรางเดี่ยว จึงมีหลายข้อสงสัยว่ามันมีวิธีจัดการเส้นทางการวิ่งอย่างไร วันนี้เราจะพาไปรู้จักก่อนได้ใช้จริงกันครับ
สำหรับ “โมโนเรล” เป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางรูปแบบหนึ่ง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000-40,000 คน / ชม. /ทิศทาง ลักษณะตัวรถและโครงสร้างรางเดี่ยวที่เป็นทางวิ่งมีขนาดเล็กและเบา จึงก่อสร้างง่าย รวดเร็ว และราคาถูกกว่ารถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) ถึง 50% เมื่อเทียบต่อกิโลเมตร ระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท/กม. ส่วนระบบโมโนเรลเฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 ล้านบาท/กม.
ซึ่งรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล เป็นระบบการขนส่งมวลชนขนาดเบาที่มีความเร็วต่ำ วิ่งตามทาง (guide way) ที่กำหนดให้ใช้รางเดี่ยว ปัจจุบันรถไฟฟ้ารางเดี่ยวมี 2 ประเภท คือ รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบวิ่งคร่อมบนรางเดี่ยว (Straddle Monorail) และ รถไฟรางเดี่ยวแบบแขวน (Suspension Monorail) ที่นิยมกันมากคือแบบคร่อมบนรางเดี่ยวทั้งสองชนิดนี้อาจสร้างบนพื้นดิน ยกระดับ หรือใต้ดินก็ได้ แต่ที่นิยมก่อสร้างกันมากเป็นแบบยกระดับให้สูงเหนือจากพื้นดินประมาณ 7 เมตรขึ้นไป ปล่อยพื้นที่บนถนนไว้สำหรับยวดยาน และการจราจร รถไฟฟ้ารางเดี่ยวชนิดนี้เหมาะสำหรับชุมชนเมืองที่แออัด ซึ่งระบบโมโนเรลนั้นจะมีสองรางวางคู่กัน จึงสามารถวิ่งสวนกันได้ ส่วนถึงปลายทางแล้วสับรางกลับรถอย่างไร ถ้าเป็นที่มาเลเชียรางตรงสถานีปลายจะสามารถยืดหยุ่นได้ ไม่ใช่แท่งปูนแบบทางปกติ พอรถเข้าสถานีปลายแล้ว เขาก็จะบังคับรางยืดหยุ่นนี้ให้งอไปหารางอีกเส้นหนึ่ง แล้วให้รถวิ่งสวนกลับออกไปบนรางอีกเส้น
“ประเทศไทย” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังจะมี “ระบบโมโนเรล” มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง โดยรัฐบาล เลือกใช้แบบวิ่งคร่อมบนรางมาก่อสร้าง มีความจุสูง ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. เป็นระบบไฟฟ้า DC 750 โวลต์ ผ่านตัวนำไฟฟ้าในรางไฟฟ้า รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 200 คน/ตู้ โดยจะให้บริการในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง ที่ ” รฟม. – การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ” ได้ข้อสรุปจะนำมาก่อสร้างโครงการ ตามแผนจะเริ่มสร้างต้นปี 2560 เปิดบริการ เดือน มิ.ย. 2563
ข้อเสียของ รถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล
วิ่งได้ไม่เร็วนัก มีการสึกหรอของล้อยาง ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุ
ความยุ่งยากรวมไปถึงงานออกแบบการก่อสร้างโรงเก็บรถ ศูนย์ซ่อมบำรุง และศูนย์ควบคุมการเดินรถ ซึ่งต่างไปจากงานของรถไฟธรรมดาทั่วๆ ไปอาจใส่ระบบการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control, Operations) และระบบควบคุมความปลอดภัย (Automatic Train Protection, ATP) ตามข้อกำหนดของลูกค้าได้
รู้จักรถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการกำหนดให้ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) เป็นระบบหลัก เป็นโครงการรถไฟฟ้าโครงการหนึ่งตามแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้ามหานครโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
เส้นทางการเดินรถ
ในระยะแรกโครงการดังกล่าวมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 27 กิโลเมตร แต่ต่อมาก็ได้มีการขยายต้นทางจากปากเกร็ดมายังแคราย เพื่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ทำให้เส้นทางของโครงการเริ่มต้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี และสิ้นสุดที่มีนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 34–36 กิโลเมตร
จุดต้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม บริเวณสถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านทางแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ แนวจะวิ่งไปตามเกาะกลางถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ดแนวจะเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านทางเข้าเมืองทองธานี จะมีสายแยกเข้า ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านทางพิเศษอุดรรัถยา มาเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่ทางแยกหลักสี่บนถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) บนถนนพหลโยธิน) บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามถนนรามอินทรา จนถึงทางแยกเมืองมีนแล้ววิ่งเข้าสู่เขตมีนบุรีตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวาก็จะเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) มาสิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม
เอาล่ะ เมื่อเข้าใจการจัดการเส้นทางของรถไฟโมโนเรลแล้วก็เตรียมรอนั่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเชื่อว่าการคมนาคมเส้นนี้น่าจะสะดวกขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก www.home.co.th และ https://th.wikipedia.org