ใช้รถไฟฟ้าอย่างเชี่ยว ม้วนเดียวรู้เรื่อง

อัปเดตการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในปี 2567 เส้นทางการเดินรถที่ขยายจนมีมากกว่า 13 สาย ให้บริการครอบคลุมบริเวณชานเมืองและในเมือง เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนเมือง, พนักงานออฟฟิศ รวมไปถึงผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าเมืองแบบสะดวกสบาย ซึ่งหากเพื่อน ๆ ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำ และอยากเพิ่มความเชี่ยวชาญ มีทริกเล็กเกร็ดน้อยเก็บไว้เป็นของตัวเอง ต้องไม่พลาดติดตามบล็อกนี้เลย

จากที่เกริ่นไปข้างต้นว่าปัจจุบัน รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลมีแผนผังการเดินทางที่พร้อมให้บริการมากกว่า 10 สาย และอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้างและศึกษากว่า 3 สาย  ไม่ว่าจะเป็น 

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (สายสุขุมวิท) เป็นสายที่ยาวที่สุดเพราะมีมากถึง 47 สถานี ตั้งแต่สถานีคูคต – สถานีเคหะฯ ครอบคลุมการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครฯ
  • รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (สายสีลม) มีจำนวนสถานี 14 สถานี ตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีบางหว้า
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง มีจำนวนสถานี 16 สถานี ตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่ – สถานีเตาปูน
  • รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีจำนวน 38 สถานี ตั้งแต่สถานีท่าพระ – สถานีหลักสอง
  • รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีจำนวน 30 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี – สถานีมีนบุรี
  • รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีจำนวน 23 สถานี ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว – สถานีสำโรง
  • รถไฟฟ้าสายสีทอง มีจำนวน 3 สถานี ตั้งแต่สถานีคลองสาน – สถานีกรุงธนบุรี
  • รถไฟฟ้าสายสีแดง มีจำนวนสถานี 10 สถานี ตั้งแต่สถานีบางซื่อ – สถานีรังสิต
  • รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน มีจำนวนสถานี 3 สถานี ตั้งแต่สถานีบางซ่อน, สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน
  • รถไฟฟ้าสายท่าอากาศยาน หรือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีจำนวน 8 สถานี ตั้งแต่สถานีพญาไท – สถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

และอีกหลากหลายสายที่มีอยู่ระหว่างดำเนินการ พิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ

  • รถไฟฟ้าสายสีส้ม มีแผนเส้นทาง 30 สถานี ตั้งแต่สถานีสุวินทวงศ์ – สถานีบางขุนนนท์ (ทั้งนี้ยังไม่เปิดให้บริการ)
  • รถไฟฟ้าสายสีเทา มีแผนเส้นทาง 15 สถานี ตั้งแต่สถานีวัชรพล – สถานีทองหล่อ (อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา-ชะลอแผนโครงการ)
  • รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีแผนเส้นทาง 20 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี – สถานีลำสาลี (คาดจะเปิดให้บริการในปี 2571)

ซึ่งรถไฟฟ้าแต่ละสายในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล จะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่แตกต่างกันไป ดังนั้นหากเพื่อน ๆ สนใจอัปเดตข่าวสาร สามารถติดตามได้ในช่องทางของหน่วยงานที่ดูแลนั้น ๆ ได้เลย

นอกเหนือจากภาพรวมต่าง ๆ ที่ต้องรู้จักแล้ว วันนี้เรามีแอปพลิเคชันสำหรับวางแผนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า มาแจกให้ทุกคนได้ดาวน์โหลดไปใช้กัน เลือกโหลดตามแผนการเดินทางของเพื่อน ๆ ได้เลย

1. BKK Rail 

เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการขนส่งและจราจร (กระทรวงคมนาคม) และคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะแสดงข้อมูลแผนผังเส้นทางของรถไฟฟ้าทุกสายอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น BTS, MRT และ Airport Rail Link โดยฟีเจอร์ในแอปฯ จะแสดงระยะเวลาการเดินทาง คำนวณค่าโดยสาร เหมาะกับการวางแผนก่อนเดินทาง 

📱App Store: https://apps.apple.com/th/app/bkk-rail/id1448681649
📱Play Store: https://play.google.com/store/apps/details?id=th.ac.mahidol.clare.gorail&pcampaignid=web_share 

2. BANGKOK MRT 

เป็นแอปพลิเคชันภายใต้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด โดยภายในแอปฯ จะแสดงข้อมูลเส้นทาง แผนผังการเดินทางรถไฟฟ้าของ MRT สายสีม่วง, สายสีน้ำเงิน และแสดงข้อมูลสถานี, สิ่งอำนวยความสะดวก, จุดเชื่อมต่าง ๆ รอบเส้นทาง MRT 

📱App Store: https://apps.apple.com/th/app/bangkok-mrt/id662068031
📱Play Store: https://play.google.com/store/apps/details?id=com.devsenses.mrt_app&pcampaignid=web_share 

3. THE SKYTRAINs 

เป็นแอปพลิเคชันภายใต้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยแอปพลิเคชันนี้จะรวบรวมข้อมูลการเดินทางระบบรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง และรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เพื่อให้คุณวางแผนการเดินทางได้สะดวกและง่ายขึ้น 

📱App Store: https://apps.apple.com/th/app/the-skytrains/id6446191311
📱Play Store: https://play.google.com/store/apps/details?id=th.btsc.theskytrains&hl=th&gl=US 

นอกจากเส้นทาง แผนผังการเดินทางรถไฟฟ้า BTS, MRT และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในบล็อกนี้เราได้รวบรวมพิกัดสำคัญที่เพื่อน ๆ ต้องเซฟเอาไว้ให้ดี เพราะมีประโยชน์ตอนเดินทางอย่างแน่นอน 

พิกัดอาคารจอดแล้วจร สำหรับผู้ที่นำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มาจากบ้านและต้องการต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT สามารถจอดรถไว้ที่อาคารจอดพิกัดเหล่านี้ได้เลย 

  • รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว
    1. อาคารจอดแล้วจร 3 ชั้น สถานีแยกคปอ. (N23) สามารถจอดรถยนต์ได้ 1,042 คัน และรถจักรยานยนต์ 275 คัน
    2. อาคารจอดแล้วจร 6 ชั้น สถานีคูคต (N24) สามารถจอดรถยนต์ได้ 713 คัน และรถจักรยานยนต์ 68 คัน 
  • รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน
    1. อาคารจอดแล้วจร 9 ชั้น สถานีลาดพร้าว (BL15) สามารถจอดรถยนต์ได้ 2,100 คัน และรถจักรยานยนต์ 967 คัน
    2. อาคารจอดแล้วจร 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (BL19) สามารถจอดรถยนต์ได้ 205 คัน (ไม่ระบุที่จอดสำหรับรถจักรยานยนต์)
    3. อาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร สถานีหลักสอง (BL38) อาคาร 1 สามารถจอดรถยนต์ได้ 686 คัน และอาคาร 2 จอดรถยนต์ได้ 349 คัน (ไม่ระบุที่จอดสำหรับรถจักรยานยนต์)
  • รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง
    1. อาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบางไผ่ (PP01) สามารถจอดรถยนต์ได้ 1,986 คัน และรถจักรยานยนต์ 416 คัน
    2. อาคารจอดแล้วจร สถานีสามแยกบางใหญ่ (PP03) สามารถจอดรถยนต์ได้ 1,296 คัน  (ไม่ระบุที่จอดสำหรับรถจักรยานยนต์)
    3. อาคารจอดแล้วจร สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (PP06) สามารถจอดรถยนต์ได้ 1,076 คัน และรถจักรยานยนต์ 100 คัน
    4. อาคารจอดแล้วจร สถานีแยกนนทบุรี 1 (PP09) สามารถจอดรถยนต์ได้ 565 คัน และรถจักรยานยนต์ 100 คัน 
  • รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง
    1. อาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าว (YL01) สามารถจอดรถยนต์ได้ 2,100 คัน (ไม่ระบุที่จอดสำหรับรถจักรยานยนต์)
    2. อาคารจอดแล้วจร สถานีศรีเอี่ยม (YL17) สามารถจอดรถยนต์ได้ 2,828 คัน  (ไม่ระบุที่จอดสำหรับรถจักรยานยนต์)
  • รถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู
    1. อาคารจอดแล้วจร สถานีมีนบุรี (PK03) สามารถจอดรถยนต์ได้ 3,025 คัน (ไม่ระบุที่จอดสำหรับรถจักรยานยนต์)

พิกัดจุดเชื่อมต่อท่าเรือ ข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องใช้เรือสาธารณะในการเดินทาง และรถไฟฟ้าเป็นประจำ 

  • สถานีรถไฟฟ้าเชื่อมท่าเรือต่าง ๆ ดังนี้
    – สายสีเขียวอ่อน สถานีราชเทวี (N1) > ท่าเรือสะพานหัวช้าง
    – สายสีเขียวเข้ม สถานีสะพานตากสิน (S6) > ท่าเรือสาทร
    – สายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ (BL09) > ท่าเรือบางโพ และ สถานีสนามไชย (BL31) > ท่าเรือราชินี
    – สายสีม่วง สถานีสะพานพระนั่งเกล้า (PP08) > ท่าเรือพระนั่งเกล้า
    – สายสีเหลือง สถานีบางกะปิ (YL08) > ท่าเรือบางกะปิ
    – สายสีชมพู สถานีมีนบุรี (PK30) > ท่าเรือตลาดมีนบุรี

หลังจากเก็บข้อมูลที่เรารวบรวมมาให้ในบล็อกนี้แล้ว หวังว่าจะทำให้เพื่อน ๆ สามารถเลือกวางแผนการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อลดปัญหามลพิษ 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top