NOTE:
– “2,230,000 ล้านบาท” คือรายรับของประเทศไทยจากการเก็บภาษี โดยแบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 29% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37% และภาษีอากรอื่นๆ 19%
– ผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
– ปัจจุบันทางรัฐบาลได้เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวจากเดิม 30,000 บาทเป็น 60,000 บาท
“การเสียภาษี” ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่พลเมืองผู้มีรายได้จะต้องกระทำให้แก่รัฐในทุกๆ ปี ทั้งนี้ถ้าหากชาว Gen C Blog คนไหนที่กำลังวางแผนลดหย่อนภาษีสำหรับปีหน้าอยู่ล่ะก็ วันนี้เรามีเคล็ดลับที่จะสร้างผลตอบแทนจากเงินออมและสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้มาฝากกันครับ
1.ลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิต
ในอดีตแค่เอ่ยถึงคำว่า “ประกันชีวิต” หลายๆ คนอาจส่ายหัวหรือพยายามปลีกตัวออกห่างกันแล้วใช่ไหมครับ แต่เชื่อหรือไม่ว่าทางรัฐได้กำหนดให้ “ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป” สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงหนึ่งแสนบาทกันเลยทีเดียว และนอกจากนี้การทำประกันชีวิตบางประเภทยังให้ผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันหรือเงินบำนาญหลังจากจ่ายเบี้ยประกันครบแล้วอีกด้วย
ตัวอย่างประกันชีวิตที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ (ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป)
ประกันชีวิตแบบให้ความคุ้มครองตลอดชีวิต – สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายในแต่ละปี มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบคุ้มครองสุขภาพ – สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายตามจริงในแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
ประกันชีวิตแบบบำนาญ – สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายในแต่ละปี มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท
ทั้งนี้นอกจากลดหย่อนภาษีแล้ว การซื้อประกันควรคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น การซื้อประกันออมทรัพย์เกิน 20% ของรายได้ในแต่ละเดือนจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินเกิดปัญหาตามมาได้ในภายหลัง
2.ลดหย่อนภาษีจากกองทุน
“กองทุน” ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ได้ผลลัพธ์ดีกว่าเงินฝากแต่มีความเสี่ยงและยุ่งยากน้อยกว่าการเล่นหุ้น โดยกองทุนที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ LTF และ RMF
“Long Term Equity Fund” (LTF) หรือ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” คือกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เหมาะแก่ผู้ลงทุนทุกกลุ่มที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาวและใช้ลดหย่อนภาษี โดยใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทั้งนี้จะต้องถือครองไว้อย่างน้อย 5 ปี
“Retirement Mutual Fund” (RTF) หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” คือทุนรวมที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในระยะยาวไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ โดย RTF จะมีแนวทางในการลงทุนที่หลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยงในแต่ละช่วงอายุของผู้ลงทุน สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทั้งนี้จะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีและถือครองไว้เกินกว่า 5 ปี
3.ลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“Provident Fund” (PVD) หรือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ทั้งนี้ PVD จะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่
เงินสะสม – ตามกฏหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน (ส่วนนี้ลูกจ้างเป็นผู้จ่าย)
เงินสมทบ – ตามกฏหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสม (ส่วนนี้นายจ้างเป็นผู้จ่าย)
ผลประโยชน์ของเงินสะสม – คือการนำเงินใน PVD ไปลงทุนในตราสารการเงินประเภทต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลที่งอกเงย (มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแล)
ผลประโยชน์ของเงินสมทบ – ดอกผลจากการลงทุนที่สมาชิกได้รับจากการปันผลในแต่ละปี
จะเห็นได้ว่าการลงทุนโดยการเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทถือเป็นแนวทางการออมเงินที่ได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เช่น ถ้าเราสะสมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 1,000 บาท บริษัทก็จะต้องสมทบเพิ่มให้เราอีก 1,000 บาท ทั้งยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้างและไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
และนี่คือ 3 วิธีออมเงินง่ายๆ ที่จะทำให้เราได้ทั้งเงินออม ผลตอบแทนที่งอกเงย และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย รู้แบบนี้แล้วชาว Gen C blog ที่กำลังวางแผนลดหย่อนภาษีลองพิจารณากองทุนและประกันชีวิตเหล่านี้กันดูนะครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.itax.in.th