NOTE:
– จากการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เมื่อปี 2536 นั้น ส่งผลให้ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่มีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
– ด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ส่งผลให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลเกียรติยศมากถึง 32 รางวัล และสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วโลกยังทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รวมกว่า 21 ปริญญาบัตร
– ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กว่า 4,350 โครงการทั่วประเทศไทย
– ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์จึงทำให้ “องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล “WIPO Global Leaders Award” หรือ “รางวัลผู้นำทรัพย์สินทางปัญญาโลก” ให้แด่พระองค์
อย่างที่ทราบกันดีว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” หรือ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ของปวงชนชาวไทยนั้น พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆหลายพันโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกร จนทำให้หลายๆประเทศทั่วโลกต่างยกย่องพระองค์ให้เป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ยากจะมีผู้ใดเสมอเหมือน
และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ วันนี้เราได้นำ 5 นวัตกรรมที่พระองค์ได้ทรงคิดค้นและพัฒนามาให้ชาว Gen-C ได้สัมผัสกันแล้วครับ
1.โครงการแกล้งดิน
“โครงการแกล้งดิน” หรือ “โครงการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้กลับมามีสภาพเหมาะสมสำหรับเพาะปลูก” เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสในปี พ.ศ. 2524 ก่อนที่จะทรงพบปัญหาว่าดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออกเพื่อเตรียมพร้อมในการเกษตรนั้น แปรสภาพกลายเป็นดินเปรี้ยวจัดจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการเร่งหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดทั้งปีให้สามารถเพาะปลูกได้ ด้วยการใช้ทฤษฎี “แกล้งดิน” คือการแกล้งดินให้เปรี้ยวถึงขีดสุดด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติที่ทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน จากนั้นจึงชำระล้างบริเวณที่เปรี้ยวออกเพื่อปรับปรุงสภาพดินให้เหมาะสมแก่การปลูกพืชต่อไป โดยโครงการนี้ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธยเลขที่ 22637
2.กังหันน้ำชัยพัฒนา
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” หรือ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” นั้นเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเติมอากาศลงในระดับผิวน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี มีหลักการทำงานด้วยการวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายในอากาศเพื่อให้ออกซิเจนสามารถเข้าไปผสมกับน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้หากน้ำมีปริมาณออกซิเจนที่มากจะเป็นการช่วยทำให้จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการบำบัดน้ำเสียที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำ
โดย “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2536 ส่งผลให้ในหลวง รัชกาลที่ 9 กลายเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในโลกที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์
3.น้ำมันปาล์มดีเซล
“น้ำมันปาล์มดีเซล” หรือ “การใช้น้ำมันกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่ริเริ่มจากการที่พระองค์ทรงห่วงใยปัญหาการผลิตปาล์มล้นตลาดของเกษตรกร อีกทั้งขณะนั้นราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส รวมไปถึงมีการวิจัยและพัฒนาการทดลองนำน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์มาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่กองงานส่วนพระองค์ จนกำเนิดเป็น “ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม” หรือ “น้ำมันปาล์มดีเซล” ที่เป็นการผสมน้ำมันดีเซลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปริมาตร ซึ่งยังคงไว้ถึงคุณภาพเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ
ทั้งนี้เมื่อปี 2546 พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ที่เป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลก ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมอีกด้วย
4.ฝนหลวง
“ฝนหลวง” หรือ “การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน” มีจุดริเริ่มมาจากปัญหาภัยแล้งของประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยลักษณะของภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ทำให้ฝนไม่ตกแม้จะมีเมฆมากและเป็นฤดูฝน พระองค์จึงทรงคิดค้นการทำ “ฝนเทียม” ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ให้เข้ากับทรัพยากรทางธรรมชาติ ด้วยการใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปก่อกวนเมฆให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีความหนาแน่นสูงจนตกลงมาเป็นฝนยังเขตพื้นที่ที่ต้องการ
ทั้งนี้ทางการได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวัน “พระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ที่ทรงคิดค้นฝนหลวงเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎร
5.วุ้นชุ่มปาก
“วุ้นชุ่มปาก” หรือ “น้ำลายเทียมชนิดเจลสำหรับผู้ที่มีภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย” เป็นโครงการของ “มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจล (Oral Moisturizing Jelly) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำลายตามธรรมชาติและปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อมในช่องปากโดยไม่ทำลายผิวฟัน
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.mcfiva.com
เครดิตภาพจาก – www.kehakaset.com/articles_details.php?view_item=307