นอกจากจะต้องเหนื่อยใจกับการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนแล้ว การเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเข้า-ออกงานตรงเวลายังต้องมีสกิลในการเอาตัวรอดจากระบบขนส่งสาธารณะที่เบียดเสียดอีกด้วย ยิ่งโดยเฉพาะในขบวนรถไฟฟ้าที่ถึงแม้จะมีที่นั่งและราวจับแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้คนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ในบางครั้งเวลาที่รถเคลื่อนตัวหรือหยุดกะทันหันอาจทำให้เราเซซ้ายเซขวาชนเกิดอุบัติเหตุได้ วันนี้เราจะพาชาว Gen-C Blog ไปเอาตัวรอดจากการทรงตัวอย่างไรบนรถไฟฟ้าไม่ให้ล้มกันดีกว่าครับ
1.อย่าหันหน้าไปทางเดียวกับหัวรถไฟ
ข้อนี้สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ตามหลักฟิสิกส์ก็คือ เมื่อเวลาที่เราอยู่ในขบวนรถที่กำลังเคลื่อนตัว ความเร็วของเราจะเทียบเท่ากับความเร็วของรถที่กำลังวิ่งอยู่บนราง ทั้งนี้หากเราหันหน้าไปในทิศทางเดียวกับหัวขบวนรถโดยไร้ที่จับ จะทำให้เราทรงตัวได้ยากเมื่อเวลารถเบรค (ความเร็วรถลดลงแต่ความเร็วของเรายังเท่าเดิม) จนอาจทำให้ล้มคะมำได้ตามมา
2.ยืนแยกเป็นรูปตัว V คว่ำ
การยืนแยกเท้าทั้งสองข้างให้มีความกว้างประมาณช่วงไหล่ (ลักษณะตัว V คว่ำ) ถือเป็นท่ายืนที่มันคงที่สุดในการทรงตัวบนรถไฟฟ้า ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่อาจมีที่นั่งหรือราวจับที่ไม่เพียงพอ การยืนเป็นรูปตัว V คว่ำจะทำให้เราสามารถทรงตัวบนรถไฟฟ้าท่ามกลางผู้คนแออัดได้โดยไม่ต้องพึ่งราวจับเลยแม้แต่นิดเดียว
3.ย่อขาเวลารถไฟฟ้าเบรค
รู้หรือไม่ว่าการยืนตัวตรงเกินไป (เข่าตึง) จะทำให้เรามีโอกาสที่จะล้มได้ง่ายเมื่อรถไฟฟ้าเกิดการเบรกกะทันหัน ทางที่ดีควรทิ้งน้ำหนักไปยังบริเวณเท้าทั้งสองในปริมาณที่เท่าๆ กันเพื่อให้เกิดความบาลานซ์ พร้อมทั้งย่อขาลงเล็กน้อยเมื่อเวลารถไฟฟ้ากำลังวิ่งเข้าสู่ชานชาลา จะทำให้เราสามารถทรงตัวในขบวนได้โดยที่ไม่ล้มไปชนคนอื่นๆ
4.ใช้เสาหรือราวจับเป็นตัวช่วย
ข้อนี้เป็นวิธีเบสิคที่หลายๆ คนมักปฏิบัติตามกันอยู่แล้ว นั่นก็คือการใช้เสาบนรถหรือราวจับเป็นตัวช่วยในการทรงตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมีเสาหรือราวจับแล้วก็ควรยืนกางขาออกเล็กน้อยเพื่อช่วยในการทรงตัว ไม่เช่นนั้นเวลาที่รถเบรคตัวเราก็ยังคงไหลไปข้างหน้าอยู่ดี นอกจากนี้ห้ามใช้สะโพก หลัง หรืออวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากมือในการพิงเสาเป็นอันขาด เพราะนั่นถือเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่ดีในการใช้ขนส่งสาธารณะร่วมกับผู้อื่น
5.ฝึกทรงตัวบนรองเท้าให้ชิน
นอกเหนือจากท่ายืนแล้วการสวมใส่รองเท้าก็เป็นสิ่งสำคัญ หากรู้ตัวว่าต้องเบียดเสียดกับผู้คนและมีการเดินทางที่ต้องใช้ความคล่องตัวอยู่ตลอด การเลือกใส่รองเท้าที่สบายๆ ให้การยึดเกาะพื้นที่ดีก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยให้เราสามารถยืนทรงตัวบนรถไฟฟ้าได้ (สาวๆ หลายคนอาจเลือกใส่รองเท้าที่สบายๆ ออกจากบ้านแล้วค่อยไปเปลี่ยนส้นสูงในที่ทำงานก็ย่อมได้)
จะเห็นได้ว่า 5 ข้อที่เราได้นำมาฝากนั้นล้วนทำไม่ยากและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกๆ ระบบขนส่งสาธารณะที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนอกเหนือจากรถไฟฟ้าได้ด้วยเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถบัส หรือเรือโดยสาร รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมส่งต่อเทคนิคดีๆ เหล่านี้ให้กับคนที่ต้องใช้ขนส่งสาธารณะเป็นประจำที่เรารู้จักกันด้วยนะครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development