ไม่ว่าจะนอนมากหรือนอนน้อยแต่ตื่นมาก็ยังง่วงอยู่ดี ถ้าทุกคนเคยมีอาการเหล่านี้ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ‘กฎการนอน 90 นาที’ เพื่อให้เราสามารถคำนวณเวลาตื่นนอนให้ไม่เพลีย หรืองัวเงีย กันครับ
โดยทั่วไปแล้วในระหว่างที่เรากำลังนอนหลับ สมองของเราจะยังคงทำงานอยู่เป็นรอบ รอบละ 90 นาที ซึ่งภายใน 90 นาทีก็จะประกอบไปด้วยช่วงการนอน NREM Sleep (80 นาที) และ REM Sleep (10 นาที)
NREM Sleep จะเป็นช่วงการนอนหลับที่ลูกตากรอกตัวไปมาอย่างช้า ๆ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ช่วงเริ่มต้น ในระยะนี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง เพื่อเตรียมเข้าสู่การเริ่มหลับ หากตื่นช่วงนี้ก็จะไม่มีอาการงัวเงียตามมา
- ระยะที่ 2 ช่วงเคลิ้มหลับ ในระยะนี้จะเป็นรอยต่อระหว่างที่เรากำลังเริ่มหลับและหลับลึก
- ระยะที่ 3 ช่วงหลับลึก เป็นช่วงที่ร่างกายหลั่ง Growth Hormone และไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก หากถูกปลุกให้ตื่นในช่วงนี้ จะทำให้เกิดอาการงัวเงียได้
REM Sleep จะเป็นช่วงการนอนที่ลูกตามีการกรอกไปมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้สมองจะทำงานใกล้เคียงกับตอนที่เราตื่นอยู่ จึงมักจะเกิดความฝันขึ้นในช่วงนี้
เมื่อรู้แบบนี้แล้วถ้าไม่อยากงัวเงียตอนตื่นนอน ก็จะต้องตั้งนาฬิกาปลุกตอนตื่นให้สอดคล้องกับกฎการนอน 90 นาทีกันด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์