NOTE:
– ปัจจุบันไทยมีตลาดสมาร์ทโฟนที่ใหญ่และเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากประเทศอินโดนีเซีย
– “31.7 ล้านคน” คือจำนวนของประชากรไทยที่ใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน โดยมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2012 ที่มีเพียง 5 ล้านคนเท่านั้น
– ในปีที่ผ่านมามีจำนวนรถยนต์ที่ขายได้ทั้งสิ้นทั่วประเทศกว่า 753,000 คัน
หากจะพูดถึงเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของบ้านเราเมื่อเทียบกับต่างประเทศ คงต้องยอมรับว่าผู้บริโภคในบ้านเรานั้นยังไม่ได้รับการคุ้มครองมากเท่าที่ควร ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คงเป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างบรรดาสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ที่มีระยะเวลารับประกันเปลี่ยนเครื่องใหม่ถ้าหากชำรุดเพียงแค่ 7 วัน ซึ่งหลังจากนั้นผู้บริโภคจะต้องรับภาระโดยการส่งเข้าศูนย์บริการเพื่อซ่อมด้วยตนเอง แตกต่างจากเมืองนอกที่มีการรับประกันตัวเครื่องนานเป็นเดือนๆ
ล่าสุดนับเป็นข่าวดีของผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ที่เสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับใจความสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้องกรณีได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง โดยมีเป้าหมายคุ้มครองสินค้าที่มีความซับซ้อน อาทิ รถยนต์และโทรศัพท์มือถือ ที่มักจะมีปัญหาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งว่าสินค้าชำรุดก่อนก่อนซื้อหรือหลังซื้อ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
– ให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์ โอนสิทธิทั้งหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคเรียกร้องกับผู้ประกอบธุรกิจได้โดยตรง
– ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องสิทธิให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้าได้ 2 ครั้ง โดยสามารถเลือกที่จะซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดได้ และถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิเรียกร้องกับผู้ประกอบธุรกิจไปแล้ว ต่อมามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าแต่ยังคงชำรุดอยู่ ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคากับผู้ประกอบธุรกิจหรือยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ (ครอบคลุมถึงกรณีสัญญาเช่าซื้อ) โดยต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบล่วงหน้า 7 วัน (ข้อเรียกร้องมีอายุความ 2 ปี)
– ถ้าหากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานว่าสินค้าชำรุดมาตั้งแต่วันส่งมอบ
ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่บังคับใช้นั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีพื้นฐานจากเสรีภาพของบุคคลตามการแสดงเจตนา ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงจนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและอาศัยช่องว่างดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภค สคบ.จึงต้องร่างพ.ร.บ.นี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้ให้หมดไป โดยสินค้าที่น่าจะเป็นปัญหาเบื้องต้นส่วนใหญ่จะเป็น สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มากที่สุด
ทั้งนี้หลังจากผ่านครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องของกฎหมายต่อไป
ถ้าหากพ.ร.บ.ฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์จนประกอบใช้จริง ผลดีก็ตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างแน่นอนครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Blog: www.ananda.co.th/blog/thegenc
IG: Ananda_developement
FB: Ananda.pcl
YouTube: Ananda Development
###
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.khaosod.co.th