NOTE:
- ‘ลิฟท์โดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ’ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ลิฟท์โดยสารจากพื้นถนนด้านล่างไปสู่ห้องจำหน่ายตั๋ว (นอกเขตชำระเงิน) และ ลิฟท์โดยสารจากพื้นถนนด้านล่างไปสู่ชานชาลา (ในเขตชำระเงิน)
- ‘ผู้พิการ’ สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ฟรีเพียงแค่แสดงบัตรประจำตัวผู้พิการและกรอกแบบฟอร์มบันทึกการโดยสารที่เจ้าหน้าที่ได้เตรียมไว้ให้
- ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งสิ้นเฉลี่ยวันละ 2,800 คน แบ่งเป็นผู้พิการที่นั่งวีลแชร์จำนวน 20 คน
เชื่อว่าชาว Gen C Blog ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำทุกวันคงต้องเคยเห็น ‘ลิฟท์โดยสาร’ บริเวณรถไฟฟ้าสถานีต่างๆ กันมาบ้าง ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนคงยังไม่รู้ว่านอกจากผู้พิการ ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์แล้ว บุคคลทั่วไปอย่างเราๆ ยังสามารถใช้ลิฟท์โดยสารได้ด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นวันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ลิฟท์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ มาฝากกันครับ
สำหรับเริ่มแรกตั้งแต่ที่รถไฟฟ้าได้เปิดให้ใช้บริการ (2542) ‘ลิฟท์โดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ’ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ 1.ลิฟท์โดยสารจากพื้นถนนด้านล่างไปสู่ห้องจำหน่ายตั๋ว(นอกเขตชำระเงิน) และ 2.ลิฟท์โดยสารจากพื้นถนนด้านล่างไปสู่ชานชาลา(ในเขตชำระเงิน)
1.ลิฟท์โดยสารจากพื้นถนนด้านล่างไปสู่ห้องจำหน่ายตั๋ว(นอกเขตชำระเงิน) เป็นลิฟท์โดยสารที่ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน (สามารถเช็ครายละเอียดของสถานีต่างๆ ได้จาก www.bts.co.th) แต่ทั้งนี้ควรอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ถูกจัดอยู่ใน Priority 4 กลุ่มอย่าง ผู้พิการ, ผู้สูงอายุ, สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีสัมภาระเยอะ ได้ใช้บริการก่อนตามหลักสากล ซึ่งลิฟท์โดยสารประเภทนี้จะเปิดให้บริการที่นอกเขตชำระเงินเพียงเท่านั้น
2.ลิฟท์โดยสารจากพื้นถนนด้านล่างไปสู่ชานชาลา(ในเขตชำระเงิน) เป็นลิฟท์โดยสารที่เปิดให้ใช้บริการเฉพาะผู้พิการ (สังเกตจากสัญลักษณ์ผู้พิการหน้าประตู) แบ่งออกเป็น 5 สถานีหลักๆ ได้แก่สถานีช่องนนทรี สถานีหมอชิต สถานีอโศก สถานีอ่อนนุช และสถานีสยาม โดยเป็นการก่อสร้างให้ตัวลิฟท์โดยสารสามารถผ่านชั้นจำหน่ายตั๋วมุ่งตรงไปสู่ยังชั้นชานชาลาได้ ซึ่งการใช้งานลิฟท์ประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องกดปุ่มเรียกพนักงานและแสดงบัตรประจำตัวผู้พิการก่อนการใช้งานทุกครั้ง
ซึ่งด้วยปัญหาในการใช้งานของลิฟท์โดยสารในข้อ 2. ที่มักเกิดปัญหาผู้ใช้บริการต้องรอเจ้าหน้าที่มาเปิดประตูลิฟท์เป็นระยะเวลานานรวมไปถึงจำนวนลิฟท์ที่ยังไม่ครอบคลุมครบทุกสถานี จึงทำให้ทางบีทีเอสเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการทยอยติดตั้งลิฟท์โดยสารเพิ่ม 19 สถานีในปีที่ผ่านมาพร้อมกับได้ปรับปรุงการใช้งานโดยให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีสัมภาระเยอะและบุคคลทั่วไปสามารถใช้ลิฟท์ร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกผ่านลิฟท์โดยสารที่ติดตั้งชุดใหม่ซึ่งจะเดินทางไปถึงบริเวณห้องจำหน่ายตั๋ว(นอกเขตชำระเงิน) โดยผู้พิการจะต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้พิการเพื่อรับคูปองการใช้รถไฟฟ้าฟรีก่อนที่จะขึ้นลิฟท์จากชั้นขายตั๋วเพื่อมุ่งสู่ชานชาลาต่อไป
จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถใช้ลิฟท์โดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้ากันได้ทั้งนั้น เพียงแค่เราต้องเอื้อเฟื้อให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์และผู้ที่มีสัมภาระเยอะให้ได้ใช้บริการก่อน รู้แบบนี้แล้วชาว Gen C Blog ก็สามารถขึ้นลิฟท์ได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวโดนดราม่ากันแล้วนะครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: http://www.voicetv.co.th