NOTE:
– “ภาวะมลพิษทางเสียง” (Noise Pollution) เป็นภาวะที่มีเสียงดังเกินไปจนก่อให้เกิดความรำคาญหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของมนุษย์และสัตว์
– จากผลการวิจัยพบว่าคนปกติจะมีระดับการได้ยินอยู่ที่ไม่เกิน 25 เดซิเบล ส่วนคนหูหนวกจะมีระดับการได้ยินที่มากกว่า 90 เดซิเบล
– ต้นเหตุของ “มลพิษทางเสียง” สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้จาก “พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535” ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียง เช่น มาตรา 27 ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรำคาญนั้น ระงับ หรือป้องกันเหตุรำคาญภายในระยะเวลาอันสมควร เป็นต้น
ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในปัจจุบันที่ “คอนโดมิเนียม” กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกที่หลายๆ คนย่อมทุ่มเงินล้านเพื่อแลกกับข้อดีต่างๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่อยู่ใจกลางกรุงสามารถได้อย่างสะดวกสบาย สามารถใช้สอยพื้นที่ภายในห้องได้อย่างเต็มที่ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เยี่ยมยอด ตลอดไปจนถึงการมีส่วนกลางที่ครบครันพร้อมใช้งาน
แต่ทุกอย่างเมื่อมีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อเสีย เพราะดูเหมือนปัญหาเรื่อง “เสียงรบกวนภายในคอนโด” นั้น ถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักๆ ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ วันนี้เราจึงไม่พลาดที่จะนำเทคนิครับมือกับเสียงรบกวนต่างๆ เหล่านี้มาฝากชาว Gen-C ให้นำไปปฏิบัติตามกันครับ
1.วิเคราะห์สถานการณ์
สำหรับขั้นตอนแรกในการรับมือกับเสียงรบกวนภายในคอนโดนั้น ก่อนอื่นเราต้องประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ดูก่อนว่า เสียงรบกวนเหล่านั้นมาจากแหล่งใด ไม่ว่าจะเป็นบนห้อง ข้างห้อง ข้างล่างตึก หรือหน้าลิฟต์ ซึ่งเราต้องหมั่นสังเกตความถี่ดูด้วยว่าเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะบางเสียงรบกวนอาจเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง (เช่นการย้ายเฟอร์นิเจอร์เข้าห้องใหม่) หรือถ้าหากเกิดขึ้นเป็นประจำ ให้ดูว่าส่วนมากเกิดขึ้นช่วงไหน ในช่วงเวลาที่คนไม่อยู่หรือช่วงเวลาพักผ่อน เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลไว้ตอบคำถามกับนิติของคอนโดนั่นเอง
2.แจ้งส่วนกลางของคอนโด
เมื่อถึงจุดที่เสียงรบกวนนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำจนกระทบกับการใช้ชีวิตภายในห้องของเราแล้ว ให้นำเรื่องเหล่านี้ไปแจ้งนิติคอนโดให้ทราบ ซึ่งส่วนใหญ่นิติจะมีการโทรคุยหรือส่งจดหมายตักเตือนลูกบ้าน และถ้าหากคุณโชคดีเพื่อนบ้านที่มีความละอายใจก็มักจะเลิกส่งเสียงรบกวนเมื่อถึงข้อนี้
3.หาแนวร่วม
แต่ทว่าหากเพื่อนบ้านที่ส่งเสียงรบกวนนั้นยังไม่ยอมหยุด ครั้งนี้เราจึงควรหาแนวร่วมเป็นห้องอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบในคอนโดเพื่อรวมตัวกันไปบอกฝ่ายกลางให้หาแนวทางจัดการเพื่อนบ้านรายนี้ โดยทั้งนี้อาจมีการศึกษาข้อกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องพระราชบัญญัติอาคารชุดว่ามีการกำหนดให้แต่ละห้องสามารถส่งเสียงดังได้ไม่เกินกี่เดซิเบล พร้อมกับการโหลดแอปพลิเคชั่นในการวัดความดังเสียง (มีให้ดาวน์โหลดฟรีทั้งใน ios และ android) มาใช้ประกอบการร้องทุกข์ด้วย
4.เตือนด้วยตนเอง
ข้อนี้อาจเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังที่จะเข้าไปตักเตือนห้องเหล่านี้ต่อหน้า โดยเปลี่ยนเป็นการเขียนโน้ตลงในกระดาษแล้วแปะไว้ที่หน้าห้องแทนก็เป็นการดี
5.แก้ที่ตัวเรา
ข้อสุดท้ายในเมื่อทำทุกอย่างแล้วยังไม่ได้ผล ก็ให้แก้ที่ตัวเราเองโดยการย้ายเตียงนอนไปอยู่อีกฝั่งที่ไกลจากจุดกำเนิดเสียงให้มากที่สุด พร้อมกับหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่เช่นโต๊ะเครื่องแป้งหรือตู้เสื้อผ้าไปไว้ที่ตำแหน่งนั้นเพื่อเป็นการดูดซับเสียงรบกวนแทน ทั้งนี้อาจมีการติดผ้าม่านใหม่ให้หนาขึ้นหรือเพิ่มเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องให้ช่วยดูดซับเสียงก็ย่อมได้
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: buildsweethome.blogspot.com