NOTE:
– วิธีช่วยผู้ที่นอนร่วมห้องกับผู้มีอาการนอนกรนแบบง่ายๆ คือ คนที่นอนด้วยควรเข้านอนก่อนจนหลับ จากนั้นให้คนนอนกรนเข้ามานอนทีหลัง หรือใส่หูฟังเพื่อลดการได้ยินเสียงกรนแทน
– จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ผู้ชายนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยพบว่าผู้ชายที่นอนกรน มีประมาณ 20-50% และมีปัญหาหยุดหายใจจากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ ประมาณ 25%
– ถ้ารู้สึกง่วงมากจนผิดปกติในตอนกลางวัน และมีประวัติการนอนกรนร่วมด้วย ให้สันนิษฐานได้เลยว่า เป็นผู้ที่มีแนวโน้มหยุดหายใจขณะหลับ
เคยมีใครบอกไหมว่า คุณเป็นคนนอนกรน…แล้วคุณยอมรับกับสิ่งนั้นรึเปล่า?
การนอนกรนดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครที่มีคู่นอนเคียงข้างด้วย หรือแม้แต่เจอสถานการณ์ไปเที่ยวต่างจังหวัดต้องนอนร่วมห้องกับผู้อื่นแล้วไม่สามารถควบคุมอาการนอนกรนของตัวเองได้
การนอนกรนมีหลายสาเหตุหลักๆ
– ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ การนอนกรนเกิดจากที่ทางเดินระบบหายใจของคุณกำลังมีปัญหา เช่นตีบแคบหรือตีบตัน ทำให้หายใจลำบาก เมื่อหายใจเนื้อเยื่อตรงช่องที่ลมผ่านก็จะมีการสั่นสะเทือนทำให้เกิดเป็นเสียงกรนดังมากน้อย ขึ้นอยู่กับความตีบ
– นอกจากนี้ยังพบมากในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือไซนัส พวกนี้จะมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจเป็นทุนเดิม แม้ในช่วงที่ไม่ได้นอนหลับ ก็จะมีอาการหายใจติดขัดอยู่ในชีวิตประจำวัน
– ในขณะเดียวกันคนที่มีบุคลิกภาพทางกายอ้วนเกินไป ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้นอนกรนได้ เพราะคนที่อ้วนมักจะมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนาขึ้น เป็นเหตุให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง
การนอนกรนอาจนำไปสู่ภาวะการหยุดหายใจ
หากใครที่มีคนเตือนว่าตัวเองเป็นคนนอนกรนบ่อยๆ อย่าปล่อยนิ่งนอนใจจนไม่หาทางรักษา เพราะเมื่อระบบทางเดินหายใจตีบแคบ นั้นทำให้ร่างกายพยายามจะหายใจเข้ามากขึ้น เป็นเหตุให้ทางเกิดความดันขึ้นระหว่างกายหายใจ และกลายเป็นทำให้ระบบช่องคอตีบแคบกว่าเดิม ส่งผลต่อภาวะเกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ถ้าเราหยุดหายใจบ่อยครั้งเข้ายิ่งทำให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย ทำให้คุณรู้สึกตัวตื่นเป็นครั้งคราวและไม่สามารถไปถึงจุดการหลับลึกหรือพักผ่อนที่เพียงพอได้ จึงดูเหมือนว่าในระหว่างวันคุณรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา
ตัวช่วยรักษาอาการนอนกรน
รักษาด้วยพืชสมุนไพร
เราขอแนะนำด้วยการเริ่มรักษาจากวิธีธรรมชาติก่อนถ้าคุณยังไม่อยากไปพบแพทย์ ลองรับประทานพวกหอมแดง พริกขี้หนู หรือขิงแก่สด สมุนไพรพวกนี้มีคุณสมบัติในการช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว เช่นเมื่อคุณมีอาการคัดจมูก เมื่อสูดดมสมุนไพรประเภทเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณหายใจสะดวกมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดความชุ่มชื่นในลำคอ อาจจะต้มดื่มผสมกับน้ำผึ้ง หรือนำไปประกอบอาหาร จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น
หมอนลดเสียงกรน
มีหลายบริษัทพยายามออกผลิตภัณฑ์มาเป็นตัวช่วยสำหรับลดอาการกรน แต่ตัวที่เราจะหยิบยกมาเป็นหมอนจาก Nitetronic Goodnite ประเทศเยอรมนี ผลิตด้วยเทคโนโลยี Advanced Snore Detection และ Head Position Sensors Inside the Pillow มีขนาดเหมือนกับหมอนทั่วๆ ไป แต่ที่ตัวหมอนจะมีสายเชื่อมต่อกับอุปกรณ์การทำงานของเครื่อง ที่จะต้องเสียบปลั๊กเปิดสวิตช์ใช้งาน รวมถึงรายงานผลการนอนของคุณได้ผ่านแอพพลิเคชั่น Nitelink2 ในสมาร์ทโฟน โดยจะรายงานผลพฤติกรรมการนอนกรนทั้งรายวันและรายเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถามคือแล้วมันลดเสียงกรนได้อย่างไร ที่ตัวหมอนจะมีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับการกรน ในหมอนจะมีท่อขยายซึ่งเมื่อคุณเริ่มกรนท่อจะค่อยๆ ขยายอย่างช้าๆ เพื่อหมุนศรีษะหรือปรับทิศทางการนอนของเราให้หายใจสะดวกขึ้น
Cr.ภาพ https://www.businesswire.com
เตียงลดอาการกรน
ถ้าหมอนยังเอาไม่อยู่ เราขอแนะนำให้คุณเลือกเป็นเตียงขนาดใหญ่ไปอีกระดับที่ชื่อว่า The Sleep Number 360 เตียงนอนที่จะเปลี่ยนวันร้ายๆ ในการนอนให้กลายเป็นวันสุขสดชื่น เตียงนี้ได้รับรางวัลการันตี CES Innovation Awards Winner – “Best of Innovation” Honoree in Home Appliances ซึ่งความพิเศษอยู่ที่มีการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาใช้ที่ชื่อว่า SleepIQ จะมาคอยช่วยตรวจจับอาการนอนกรนและประเมินผลในเรื่องการนอน แต่ที่พิเศษกว่านั้นเทคโนโลยีที่ซ่อนอยู่ภายในเตียงจะสามารถปรับให้คุณนอนหลับสบายขึ้น เช่น ช่วงปลายเตียงนั้นมีระบบทำให้เท้าอุ่น เตียงปรับระดับได้เพื่อรองรับการพลิกตัวหรือตำแหน่งการนอนที่ผิดปกติและส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ท้ายที่สุดเตียงจะถูกปรับระดับสูงขึ้น 7 องศาทันที เมื่อผู้นอนมีอาการกรน โดยไม่มีการปลุกให้ตื่น
ถ้าคุณได้ลองทำทุกวิธีก็ยังไม่หายอาการนอนกรน แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์จะดีที่สุด เพราะการนอนกรนถือว่าไม่ได้เป็นโรค แต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งต่อตัวเองและคู่นอน อย่าปล่อยให้เรื้อรังจนเป็นสาเหตุให้คุณหยุดหายใจในที่สุด
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development