หน้ากากกันฝุ่น N95 หายาก! ใช้อะไรทดแทนได้บ้าง

ด้วยความที่ในปัจจุบันกรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้ประชาชนหลายๆ คนเริ่มตื่นตัวที่จะวิธีการป้องกันเจ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดก็คือการสวมใส่หน้ากากอนามัย N95 ที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยผ้าทั่วๆ ไป แต่เพราะอุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน หน้ากากอนามัย N95 กลายเป็นของหายากและมีราคาค่อนข้างสูง วันนี้เรามี How to ป้องกันฝุ่น PM2.5 แบบง่ายๆ โดยใช้ทดแทนเจ้าหน้ากาก N95 กันครับ

1.ใช้ 3M 8210 หรือ 3M 9002A ทดแทน

จากงานวิจัย*พบว่า หน้ากากอนามัยชนิด 3M 8210 และชนิด 3M 9002A สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ดีใกล้เคียงกับ หน้ากากอนามัย N95 โดยหน้ากากอนามัยชนิด 3M 8210 และชนิด 3M 9002A จะมีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 87-96% ส่วนหน้ากากอนามัย N95 จะมีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 95% ขึ้นไป

2.Dura Mask + ทิชชู่

หากไม่สามารถหาหน้ากากอนามัย N95 หรือชนิดที่ใกล้เคียงได้ Dura Mask หรือหน้ากากอนามัยชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดก็สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ในเบื้องต้น 41 – 48% หรือถ้าหากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5 ให้ดียิ่งขึ้น ก็ให้สอดทิชชู่ 2 ชิ้นลงไปก่อนสวมใส่หน้ากาก จะสามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้นถึง 90 – 96% (หรือจะใส่ Dura Mask 2 ชั้นก็ช่วยป้องกันได้เช่นเดียวกัน )

3.3D Easy Mask

จากคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ**พบว่า ในกรณีที่เราไม่ใช่ผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ การสวมใส่หน้ากากอนามัยธรรมดาทั่วไป (เช่น Dura Mask หรือ 3D Easy Mask) ก็สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ราวๆ เกือบครึ่ง ซึ่งดีกว่าการไม่ใส่อะไรออกจากบ้านเลย (ในกรณีที่หา N95 ไม่ได้จริงๆ)

4.ผ้าชุบน้ำ

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าหน้ากากผ้า ผ้าเช็ดหน้า และผ้าต่างๆ ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ได้เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างใยผ้าที่ใหญ่เกินไป แต่จากการแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า หากจำเป็นต้องออกจากบ้านหรืออยู่ในที่โล่งในกรณีฉุกเฉิน การนำผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ มาปิดบริเวณจมูกและปากก็สามารถช่วยกันฝุ่นละอองได้ในระดับหนึ่ง (แต่ไม่แนะนำให้อยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน)

สุดท้ายนี้วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เตรียมยาสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวให้พร้อมรวมไปถึงหากรู้ว่าป่วยควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปข้างนอก และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 อยู่เสมอ ซึ่งถ้าหากหาซื้อไม่ได้ก็สามารถใช้วิธีป้องกันฝุ่นละอองข้างต้นที่เราแนะนำไปก็ย่อมได้เช่นเดียวกันครับ

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก:

*งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อ โครงการย่อยที่ 3 การพัฒนาชุดความรู้ด้านประสิทธิภาพของหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก โดย .ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และ ดร.ขนิษฐา พันธุรี Thaneyhill (2551)

**นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจและปอด

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top