จากยุคแรกของการใช้เครื่องจักรไอน้ำเพื่อเดินทางข้ามทวีป สู่ปัจจุบันที่ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในการเดินทางท่องอวกาศเพื่อสำรวจดวงดาว แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากวิวัฒนาการทางด้านต่างๆ แล้ว “การเดินทาง” ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนก็ตาม วันนี้เราจึงขอหยิบเอา 5 นวัตกรรมทางด้านการเดินทางที่อาจดูเหมือนเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่พวกมันกำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้มาอัพเดทชาว Gen C กันครับ
Hyperloop
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อของ Hyperloop กันมาสักระยะแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของการเดินทางชนิดนี้มาจาก Elon Musk นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของ SpaceX ที่ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า Hyperloop คือพาหนะในการเดินทางชนิดที่ 5 ต่อจาก รถ, รถไฟ, เรือ และเครื่องบิน
โดยการเดินทางที่เรียกว่า Hyperloop นั้นจะมีลักษณะเป็นแคปซูลห้องโดยสาร ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี Magnetic Levitation Technology ที่อาศัยแรงแม่เหล็กระหว่างตัวแคปซูลและรางในการยกห้องโดยสารให้ลอยขึ้นจนทำให้สามารถเดินทางเป็นพันกิโลเมตรได้แค่ภายในหนึ่งชั่วโมง
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้มีการขุดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อทำการทดสอบ Hyperloop อยู่แถบทะเลทรายใน Nevada โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าโครงการนี้จะสามารถเปิดใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2021 ส่วนฝากฝั่งพี่ใหญ่ของทวีปเอเชียอย่างจีนก็ไม่น้อยหน้ามีการทดสอบ Hyperloop ที่เมืองกวางโจวอยู่เป็นระยะๆ หลังจากที่เพิ่งเปิดตัว รถไฟพลังงานแม่เหล็ก ไปเมื่อไม่นานมานี้
Self-Driving Car
Self-Driving Car หรือ รถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ คือนวัตกรรมการเดินทางที่เหล่าบริษัทใหญ่ยักษ์ของโลกอย่าง Google, BMW, Uber, Baidu และ Intel ได้พัฒนาโปรเจ็กต์เหล่านี้มาสักพัก จะเห็นได้จากการทดลองนำรถยนต์ไร้คนขับมาวิ่งบนถนนจริงๆ ของ Uber ในรัฐเพนซิลเวเนียเมื่อ 3 ปีก่อน หรือ การทดลองวิ่งบนถนนในรัฐแอริโซนาของ Waymo ทีมพัฒนาจาก Google ที่เพิ่งจะฉลองครบรอบการทดสอบวิ่งครบ 10 ล้านไมล์ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดังนั้นในอนาคตข้างหน้า รถยนต์ไร้คนขับ อาจกลายเป็นอีกหนึ่งการเดินทางหลักที่ช่วยสร้างระเบียบวินัยและความปลอดภัยให้กับท้องถนนก็เป็นได้
เดินทางบนเครื่องบินด้วยการ “ยืน”
เพราะสะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูกใกล้เคียงกับค่าเดินทางแบบอื่นๆ จึงทำให้ไม่กี่ปีที่ผ่าน “เครื่องบิน” กลายเป็นอีกหนึ่งการเดินทางยอดนิยมของผู้คนทั่วทั้งโลก ล่าสุดในงาน Aircraft Interior Expo 2018 ในเยอรมนีที่ผ่านมา Aviointeriors บริษัทสัญชาติอิตาลีก็ได้ออกแบบเก้าอี้โดยสารบนเครื่องบินที่มีลักษณะกึ่งนั่งกึ่งยืนเพื่อช่วยประหยัดค่าโดยสารและเพิ่มพื้นที่ความจุบนเครื่องบินให้มากยิ่งขึ้น ไม่แน่ในอนาคตสายการบินต้นทุนต่ำที่มีระยะทางการบินใกล้ๆ อาจเปลี่ยนไปใช้เก้าอี้แบบกึ่งนั่งกึ่งยืนแบบนี้ก็เป็นได้
จรวดความเร็วสูง
หากมนุษย์สามารถสร้างยานพาหนะที่เรียกว่า “จรวด” ในการเดินทางท่องไปยังในอวกาศที่มีระยะทางหลายหมื่นล้านปีแสงได้ ทำไมมนุษย์จึงไม่นำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้เดินทางภายในโลกเพื่อช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางล่ะ? นั่นคือที่มาของแนวความคิดในการสร้าง Earth to Earth Rocket Project หนึ่งในโปรเจ็กต์ยักษ์ด้านการเดินทางของ SpaceX
โดยการพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ว่านี้จะใช้รูปแบบของจรวด BFR ที่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 2.5 เท่าของจรวดโคจรรอบดาวอังคารอย่าง Falcon Heavy ซึ่ง BFR จะบรรจุผู้โดยสารได้ครั้งละกว่า 100 คน ใช้การเดินทางในรูปแบบจุดต่อจุดบนสถานีต่างๆ ทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วชนิดที่ว่าจากเมืองเซียงไฮ้ไปนิวยอร์คใช้เวลาเพียงแค่ 39 นาทีเพียงเท่านั้น มิหนำซ้ำจรวดยังสามารถใช้เดินทางได้กว่า 10 รอบต่อวันแตกต่างจากเครื่องบินโดยสารที่ต้องมีการพักเครื่องหลังจากบินเสร็จ แว่วๆ มาว่าอีกไม่น่าเกิน 10 ปีอาจได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างแน่นอน
การใช้เชื้อเพลงไฮโดรเจนแทนน้ำมัน
อย่างที่รู้ๆ กันดีว่าการเผาไหม้จากน้ำมันก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำร้ายชั้นบรรยากาศของโลกตามมา ล่าสุดหลายๆ ประเทศจึงได้คิดค้นรถไฟโดยสารที่จะใช้พลังงานไฮโดรเจนในการเผาไหม้แทนแล้ว
โดยโปรเจ็กต์นี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบในเยอรมนี จีน และประเทศในแถบทวีปยุโรป ซึ่งข้อดีของการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการเผาไหม้คือของเสียที่ได้จะมีแค่เพียงออกซิเจนและน้ำบางส่วน แตกต่างจากการใช้น้ำมันที่มีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลกโดยตรง ทั้งนี้เมื่อปี 2015 รถไฟพลังงานไฮโดรเจนได้ถูกเปิดเผยครั้งแรกที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน แต่ที่กำลังทดสอบล่าสุดคือการทำออกมาให้สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์
และนี่ก็คือ 5 นวัตกรรมทางด้านการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในตอนนั้นการเดินทางข้ามทวีปไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลกภายในเวลาไม่กี่นาทีอาจกลายเป็นมาตรฐานในการเดินทางใหม่ของมนุษยชาติก็เป็นได้