เช็กเลยคุณเป็น Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่?

Burnout นับว่าเป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากขึ้นในปัจจุบันนี้ หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยนัก แต่หากพูดว่าความหมายของคำนี้ก็คือ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” คงต้องร้องอ๋อ เข้าใจแล้วแน่นอน เพราะเอาจริงแล้วอาการนี้ เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เฉพาะกับคนที่ทำงานมานาน แต่เรามีความเข้าใจ และรู้จักภาวะนี้ดีแค่ไหน รวมทั้งจะแก้ไข หรือต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำมาฝากกันครับ

 

มาทำความรู้จัก กับอาการ Burnout กันก่อน

ในการทำงานของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ย่อมมีปัญหามากมายที่ต้องเผชิญ ซึ่งโดยปกติแล้ว เราจะสามารถบริหารจัดการความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประสบการณ์ วัยวุฒิ คุณวุฒิ ลักษณะงาน ทัศนคติส่วนตัว และแต่ละคน ก็จะมีวิธีในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ได้หลากหลาย เช่น หางานอดิเรกทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ อ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้หมกหมุ่นกับปัญหาเดิมๆ / พักผ่อน เพื่อให้ร่างกาย และสมองได้ผ่อนคลาย ก่อนกลับมาสู้กับปัญหาใหม่ / ปรึกษา หรือพูดคุยกับญาติ เพื่อน เพื่อระบายความในใจ

แต่หากทำทุกวิถีทางแล้ว ยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ ให้สงสัยได้เลย ว่าคุณอาจกำลังมีภาวะ Burnout ขึ้นแล้ว

  • คิดเรื่องงานตลอดเวลา ส่งผลให้นอนไม่หลับ กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
  • รู้สึกท้อแท้ หดหู่ ไม่มีความสุข แม้จะได้ทำในสิ่งที่ขอบก็ตาม
  • กลัวการตื่นมาทำงาน หรือ ไม่รู้สึกถึงความท้าทายในการทำงาน
  • ไม่มีสมาธิ หรือรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการงาน ที่เคยทำเป็นปกติได้
  • รู้สึกหมดพลังได้ง่าย ไม่กระตือรือร้น เบื่อหน่ายวิถีชีวิต

ดังนั้น ภาวะ Burnout จึงเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่ออารมณ์ที่เครียดเรื้อรังต่อการทำงาน ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบของ อารมณ์อ่อนเพลียหรือรู้สึกไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน, เกิดภาวะ Cynicism (ขาดความรู้สึกสนุกในการทำงาน ขาดแรงจูงใจในงานที่ทำ) ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงานนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และร่างกายหลายอย่าง อาทิเช่น มีภาวะนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่าย ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นสาเหตุนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล บางรายมีพฤติกรรมติดสุราพึ่งยาเสพติด ซึ่งภาวะเครียดเรื้อรังนำไปสู่ปัญหาทางกายโรคเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ และเบาหวาน กว่า 60-80% จะต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์

ที่มาของข้อมูล : https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2270

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการ Burnout

ภาวะ Burnout นั้น สาเหตุหลักๆมาจาก ภาวะเหนื่อยล้าของจิตใจที่เกิดจากการต้องเผชิญกับปัญหาในการทำงานที่เรื้อรัง และยาวนาน ประกอบไปด้วย

  1. ปริมาณงานที่มากเกินไป : โดยปกติการทำงานที่กฎหมายกำหนดที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน เพียงพอและสมดุลกับร่างกายและจิตใจ แต่ในปัจจุบันพบว่าหลายๆคน ต้องทำงานมากขึ้นในแต่ละวัน เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามระยะเวลา อาจเพราะมีจำนวนคนจำกัด เกิดภาวะวิกฤติ หรือขาดการวางแผนที่ดีทำให้ระยะเวลาในการทำงานสั้นลง ซึ่งหากเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ สภาวะของร่างกายและจิตใจ จะสามารถอดทนต่อสภาพการณ์เหล่านี้ได้ แต่หากยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีวี่แววว่าจะจบ ยิ่งทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนล้า จนนำมาสู่ภาวะ Burnout ในที่สุด
  2. ผลตอบแทน ไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรง หรือไม่ตรงกับที่คาดหวัง : เชื่อว่าคนทำงานทุกคนย่อมต้องการผลตอบแทนจากการทำงาน ทั้งในรูปแบบของ เงินเดือน ตำแหน่ง รางวัล เกียรติยศต่างๆ แต่หากทุกวัน และเวลาที่ทำไป ไม่เคยได้รับตามที่หวังไว้ สุดท้ายเราจะเริ่มท้อแท้ และรู้สึกหมดไฟ
  3. องค์กรไม่มีวิธีบริหารจัดการที่ดีพอ : หลายๆบริษัทอาจไม่มีวิธีในการจูงใจพนักงานที่ดีพอ หรือมีวัฒนธรรมบางอย่าง ที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่น การไม่มีเครื่องมือในการทำงานที่เหมาะสมที่จะทำให้การทำงานราบรื่น, ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของงาน ทำให้พนักงานต้องสแตนบายทำงานตลอดเวลา แม้จะเป็นวันหยุด, ไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ หรือเป้าหมายขององค์กร ขัดกับจุดมุ่งหมายของตนเอง
  4. งานที่ทำไม่เหมาะกับตนเอง : หลายๆคนอาจได้รับมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับบุคลิกภาพของตนเอง หรือบางคนอาจจะเพิ่งค้นพบหลังจากทำงานไปสักพัก ว่างานที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองถนัด หรือชื่นชอบ สิ่งการต้องเผชิญกับสิ่งที่ขัดต่อความชอบ จะทำให้เครียดสะสมในที่สุด
  5. รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง : มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ย่อมต้องการ ความยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง แต่หากในสังคมการทำงานไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือรู้สึกว่างานนี้ไม่ได้รับการตอบรับ หรือขาดอำนาจในการตัดสินใจ หรือแรงสนับสนุนย่อมรู้สึกอึดอัดได้ง่าย
  6. สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม : สาเหตุนี้ถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนเกิดการ Burnout ได้เร็วขึ้น นั่นคือ การเกิด Crisis บางอย่างที่ทำให้ต้องปรับเปรียบรูปแบบการทำงาน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ที่ทำให้หลายๆองค์กร ต้องปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ WFH (Work From Home) แทน ทำให้คนทำงานส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ บางตำแหน่งการ WFH อาจให้ทำงานยากขึ้น 2 เท่า เพราะไม่สามารถเจอ หรือประชุมกันได้ง่ายเหมือนเดิม

เขื่อว่าภาวะ Burnout นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ในปัจจุบันที่การแข่งขันสูงขึ้นอย่างมากในทุกอาชีพ ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับภาวะนี้ในที่สุด แต่ไม่ต้องกังวลไป หากรู้สาเหตุแล้ว ลองมาหาทางแก้ หรือป้องกันตามคำแนะนำดีดีเหล่านี้กันครับ

 

แนวทางการแก้อาการ Burnout

สุขภาพต้องมาก่อน : ภาวะแบบนี้ มักจะส่งผลให้นอนหลับยาก หรือเบื่ออาหารได้ง่าย ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้จะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ดังนั้นพยายามให้ร่างกายนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมงต่อวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเพื่อให้สมองได้หลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาบ้าง แม้จะเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ก็มีหลายคนที่ละเลยตรงนี้ไป แนะนำให้ทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นช่วงที่กำลังเกิด Burnout อยู่ก็ตาม

ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในชีวิต : อย่าหมกมุ่นกับงานตลอดเวลา ให้กำหนดวันว่างให้กับตัวเอง โดยแม้งานจะหนักมากเพียงใด ก็ต้องมีวันที่ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจได้ขี้เกียจ ได้ทำกิจกรรมอื่นๆตามใจตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิดบ้าง โดยเริ่มจากมองหางานอดิเรกอื่นๆ เช่น แต่งบ้าน ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เล่นเกมส์ เพราะนอกจากจะช่วยลดความตึงเครียดให้ร่างกายแล้ว เมื่อกลับไปทำงานอีกครั้ง อาจพบว่าเราทำงานได้ดีกว่าเดิมก็เป็นได้

จัดลำดับความสำคัญของงาน : ภาวะ Burnout นี้เกิดขึ้น เพราะความเครียดจากการทำงานสะสม ลองค่อยๆนั่งคิดวิเคราะห์ เขียนปัญหาทั้งหมดออกมา และทำการจัดลำดับว่าจะแก้ปัญหา หรือจัดการงานอะไรก่อนหลัง เพื่อให้เราทราบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง จากนั้นค่อยๆหาทางแก้ปัญหาไปทีละข้อ เราอาจจะพบว่าบางปัญหาถ้าแก้ได้ อาจจะทำให้งานอื่นๆได้รับการแก้ไขไปด้วย

หยุดพักชั่วคราว : บางปัญหาที่รู้สึกมืดมนเหลือเกิน อาจพบว่าเรากำลังแก้มันในขณะที่ร่างกายและจิตใจอ่อนล้าเกินไป ลองหยุดพักจากการทำงานสักพัก อาจเป็นรูปแบบของการลาพักร้อนที่ยาวนานขึ้น เพื่อปล่อยให้ร่างกายได้ชาร์ตแบตอย่างเต็มที่ ไว้พร้อมอีกครั้ง ก็ค่อยกลับมาลุยอย่างเต็มที่อีกครั้ง

ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน : การทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้ขาดแรงผลักดันและหมดไฟได้ง่าย เพราะไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ลองตั้งเป้าหมายในชีวิตทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อทำให้รู้ว่างานมากมายที่เราต้องทำนั้น ทำไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อเรียนรู้ไปปรับใช้กับธุรกิจส่วนตัว เพื่อเก็บเงินเกษียณ เพื่อซื้อบ้าน รถ ฯลฯ

พบแพทย์หรือนักบำบัด : หากท้ายที่สุดแล้ว ยังพบว่าอาการ Burnout ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ไมเกรน ตามมาได้ ลองพบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบำบัด เพื่อขอคำแนะนำที่สามารถนำมาปรับใช้ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบ
กรมสุขภาพจิต
https://www.pobpad.com/burnout-หมดไฟในการทำงาน-จัดการ
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1385

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top