ถ้าพูดถึงการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดของชาวกรุงเทพมหานคร ก็ต้องยกให้การเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS นี้เลย เพราะทุกวันนี้รถไฟฟ้า BTS ก็ยังมีการขยายเส้นทางเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนทำให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้อย่างสะดวกสบายในเวลาไม่นาน และด้วยเส้นทางที่มากมายนี้เอง อาจทำให้ผู้ใช้งานเริ่มสับสนกับค่าโดยสาร BTS ว่าเส้นไหนมันเท่าไรกันแน่ เราจึงได้สรุปมาให้เข้าใจกันง่าย ๆ ดังนี้
ขอบคุณรูปภาพจาก: okdentang.com
1.ค่าโดยสาร BTS สายสุขุมวิท หรือสายสีเขียว
รถไฟฟ้า BTS สายนี้เป็นสายที่ยาวที่สุด เพราะวิ่งตั้งแต่สมุทรปราการ หรือสถานีเคหะฯ ไปจนถึงสถานีคูคตที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมดจะผ่าน 3 จังหวัดด้วยกัน คิดเป็นระยะทางเกือบ 59 กิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่าอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้งานได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่บริเวณชานเมืองแล้วต้องการจะเข้ามาทำงานในเมือง หรือผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องออกไปทำธุระแถวรังสิตและสมุทรปราการ ส่วนค่าโดยสาร BTS ของสายนี้ คิดง่ายๆ แบบนี้เลย
- เดินทาง 1 สถานี 16 บาท เช่น สยาม ไป ชิดลม หรือ หมอชิต ไป สะพานควาย
- เดินทาง 2 สถานี 23 บาท เช่น อโศก ไป ทองหล่อ หรือ หมอชิต ไป อารีย์
- เดินทาง 3 สถานี 26 บาท เช่น เสนานิคม ไป ห้าแยกลาดพร้าว หรือ บางจาก ไป บางนา
- เดินทาง 4 สถานี 30 บาท เช่น สนามเป้า ไป สยาม
- เดินทาง 5 สถานี 33 บาท เช่น ชิดลม ไป ทองหล่อ
- เดินทาง 6 สถานี 37 บาท เช่น สยาม ไป สะพานควาย
- เดินทาง 7 สถานี 40 บาท เช่น สยาม ไป หมอชิต
- เดินทาง 8-15 สถานี 44 บาท เช่น หมอชิต ไป อโศก
- เดินทาง 16 สถานีขึ้นไป เหมา 59 บาท
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าการเดินทางที่เพิ่มขึ้นแต่ละสถานี จะมีค่าโดยสาร BTS เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานีละ 3-4 บาท ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาของ BTS เอง คุณจึงสามารถวางแผนและเตรียมเงินเอาไว้ล่วงหน้าได้ และสำหรับคนที่ต้องการเดินทางตั้งแต่สถานีแบริ่ง ไปสถานีเคหะฯ ตอนนี้ทาง BTS ยังให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถเดินทางได้ตั้งแต่วันนี้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีการประกาศให้ทราบต่อไป
ขอบคุณรูปภาพจาก: okdentang.com
2.ค่าโดยสาร BTS สายสีลม หรือสายสีเขียวเข้ม
รถไฟฟ้าสายนี้ ถือเป็นอีกสายหลักของกรุงเทพมหานคร ที่วิ่งจากจุดศูนย์กลางอย่างสยาม ไปยังฝั่งธน ซึ่งจะสิ้นสุดที่สถานีวุฒากาศ นับเป็นการเดินทางอีกเส้นที่มีความสำคัญมาก จึงไม่แปลกที่จะเห็นคอนโดขึ้นในฝั่งธนมากมายและมีราคาที่ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับการซื้อคอนโดใจกลางเมือง นอกจากรถไฟฟ้าสายนี้จะทำให้การเดินทางระหว่างฝั่งธนกับในเมืองสะดวกง่ายดาย ไม่ต้องทนรถติดแล้ว คุณยังสามารถเดินทางต่อไปด้วยการโดยสารเรือ และรถไฟ รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินได้จากเส้นนี้อีกด้วย
สำหรับค่าโดยสาร BTS ของสายสีเขียวเข้ม หรือสายสีลมนี้ จะคิดค่าบริการเหมือนกันกับสายสุขุมวิท คือเริ่มต้นที่ 16 บาท และจะเพิ่มไปเรื่อย ๆ ทีละ 3-4 บาทต่อสถานี สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังปทุมธานี และสมุทรปราการได้ในราคาเหมาๆ 59 บาท (กรณีเกิน 15 สถานี) เพียงแค่เปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสยาม โดยที่ไม่ต้องออกจากประตูก่อนเลย
3.ค่าโดยสาร BTS สายไอคอนสยาม (สายสีทอง)
ถ้าหากไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จริงๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับรถไฟฟ้าสายนี้เท่าไร เนื่องจากไม่ค่อยมีการโปรโมต และเป็นเพียงการเดินทางสั้น ๆ แค่ไม่กี่สถานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการเดินทางเส้นเจริญนคร และผู้ที่ต้องการไปห้างสรรพสินค้าไอคอนสยามเท่านั้น สำหรับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายนี้ จะเริ่มที่ BTS กรุงธนบุรี และจะสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน มีค่าบริการ 15 บาทตลอดสาย ไม่ว่าจะลงที่สถานีไหนก็ราคาเดียว
การเดินทางเส้นนี้ ใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่มีคอนโดอยู่ที่เจริญนคร หรือมีคอนโดอยู่ในสมุทรปราการ เพราะจะมีรถเมล์โดยสารเชื่อมต่อไปยัง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการหลายสาย
ค่าโดยสาร BTS ของนักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ เท่ากับบุคคลทั่วไปหรือไม่?
เป็นคำถามที่พบได้บ่อยมาก เนื่องจาก BTS มักจะมีการโฆษณาเกี่ยวกับบัตร Rabbit ที่เพียงเติมเงินเข้าไปก็สามารถเข้าสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาต่อแถวซื้อตั๋วโดยสารอีก ซึ่งบัตรนี้ก็จะมีสีไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับประเภทของคนใช้งาน เลยทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าไม่ซื้อบัตร Rabbit จะยังซื้อตั๋วที่มีราคาแตกต่างกันตามแต่ละบุคคลได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่จะต้องมีการยื่นบัตรนักเรียน นักศึกษา และบัตรผู้สูงอายุควบคู่ไปด้วย ส่วนราคาค่าโดยสาร BTS หลังหักส่วนลด จะเป็นไปดังต่อไปนี้
ค่าโดยสาร BTS สำหรับนักเรียน นักศึกษา
- เดินทาง 1 สถานี 16 บาท
- เดินทาง 2 สถานี 23 บาท
- เดินทาง 3 สถานี 26 บาท
- เดินทาง 4 สถานี 30 บาท
- เดินทาง 5 สถานี 33 บาท
- เดินทาง 6 สถานี 37 บาท
- เดินทาง 7 สถานี 40 บาท
- เดินทาง 8-15 สถานี 44 บาท
- เดินทาง 16 สถานีขึ้นไป เหมา 54 บาท
อาจจะดูไม่ได้ต่างกันมาก แต่จริงๆ แล้วมีต่างอยู่เล็กน้อยตรงที่การเดินทางมากกว่า 16 สถานีขึ้นไป จะมีส่วนลด 5 บาท ก็จะช่วยประหยัดสำหรับคนที่มีบ้านหรือคอนโดอยู่ย่านชานเมืองและต้องเข้ามาเรียนหรือทำงานในใจกลางกรุงได้เพิ่มมากขึ้น
ค่าโดยสาร BTS ของผู้สูงอายุ
- เดินทาง 1 สถานี 8 บาท
- เดินทาง 2 สถานี 12 บาท
- เดินทาง 3 สถานี 13 บาท
- เดินทาง 4 สถานี 15 บาท
- เดินทาง 5 สถานี 17 บาท
- เดินทาง 6 สถานี 19 บาท
- เดินทาง 7 สถานี 20 บาท
- เดินทาง 8-15 สถานี 22 บาท
- เดินทาง 16 สถานีขึ้นไป เหมา 29 บาท
เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ค่าโดยสาร BTS ของผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะถูกลงไปครึ่งนึงจากราคาค่าโดยสารปกติเลย เพราะฉะนั้นหากเดินทางกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะพ่อแม่ หรือลุงป้าน้าอา ก็อย่าลืมยื่นบัตรผู้สูงอายุ หรือบัตรประชาชนเมื่อซื้อตั๋วโดยสารทุกครั้งด้วย ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว
ขอบคุณรูปภาพจาก: moneyduck.com
บัตร Rabbit คืออะไร มีส่วนลดค่าโดยสาร BTS ด้วยหรือไม่?
ได้เกริ่นนำกันไปก่อนหน้านี้ถึงบัตร Rabbit กันไปบ้างแล้ว ในส่วนนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับบัตรนี้มากขึ้น เพื่อให้คุณได้ใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางโดย BTS อธิบายก่อนว่าบัตร Rabbit นี้ เป็นบัตรเงินสดที่สามารถใช้ได้กับร้านค้าหลายประเภท ไม่ใช่แค่จ่ายค่าโดยสาร BTS เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และแต่ละร้านก็จะมีส่วนลดที่มากน้อยแตกต่างกันไปอีกด้วย
ขั้นตอนในการขอออกบัตร Rabbit มีดังต่อไปนี้
- ติดต่อเจ้าหน้าที่ BTS ตรงจุดซื้อตั๋วโดยสาร แล้วแจ้งว่าต้องการบัตร Rabbit
- จ่ายค่าออกบัตร หรือค่าธรรมเนียมบัตร 100 บาท และจะต้องเติมเงินเข้าไปครั้งแรก 100 บาท
- ในกรณีที่คุณเป็นนักศึกษา หรือต้องการซื้อให้ผู้สูงอายุ จะต้องยื่นบัตรนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี และบัตรประชาชนแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการบัตรประเภทไหนด้วย
- เจ้าหน้าที่จะลงทะเบียนบัตรใหม่ให้คุณ ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีก็เรียบร้อยแล้ว
หากใช้บัตร Rabbit ในการจ่ายค่าโดยสาร จะมีส่วนลดที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ หรือลดไป 1 บาทไม่ว่าจะออกสถานีไหนก็ตาม เช่น การเดินทาง 1 สถานีที่จากเดิม 16 บาท ก็เหลือ 15 บาท หรือเดินทางยาวๆ 59 บาท ก็ลดไป 1 บาทเหลือ 58 บาท และถ้าหากเอาไปใช้จ่ายแทนเงินสดกับร้านค้าที่ร่วมรายการ ก็จะมีของแถมหรือส่วนลดดังต่อไปนี้
- ซื้อโดนัท Krispy Cream แล้วจ่ายด้วยบัตร Rabbit รับโดนัท Original Glazed เพิ่มอีก 2 ชิ้นฟรีทันที
- จ่ายค่าอาหารคัตสึด้งไก่ไซส์ใหญ่ ที่ร้านคัตสึยะ ด้วยบัตร Rabbit รับไก่คาราเกะเพิ่มอีก 1 ที่ทันที
- ซื้อเครื่องสำอางที่ร้าน Etude House มูลค่า 500 บาทขึ้นไปแล้วจ่ายด้วยบัตร Rabbit รับน้ำยาทาเล็บฟรี 1 ขวด
จริงๆ แล้วยังมีโปรดีๆ แบบนี้อีกมาก ซึ่งจะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปแต่ละเดือน และจะมีการเพิ่มร้านใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ด้วย คุณสามารถติดตามโปรโมชั่นเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ rabbit.co.th/promotion/ หรือดูได้จากตู้ Rabbit ที่ตั้งอยู่ใน BTS สถานีใหญ่ๆ เลย หรืออาจจะมองหาสัญลักษณ์ Rabbit ในร้านอาหาร หรือร้านค้าที่คุณไปแล้วสอบถามกับพนักงานก็ได้เช่นกัน
นอกจากได้รับส่วนลดแล้ว บัตร Rabbit ยังมี Point ให้สะสมจากการใช้จ่ายต่างๆ อีกด้วย ซึ่ง Point นี้ก็สามารถเอามาใช้เป็นส่วนลดค่าโดยสาร BTS ได้อีก โดยจะเรียกกันว่า Rabbit Reward สำหรับการสะสม Point จะมีขั้นตอนดังนี้
- ดาวน์โหลดแอพ Rabbit Reward ในมือถือ (มีทั้ง iOS และ Android)
- ลงทะเบียนแอพ และเพิ่มข้อมูลบัตร Rabbit ของคุณให้เรียบร้อย ก็สามารถสะสม Point ได้ทันที
- เอา Point ที่สะสมได้ มาแลกรางวัลตามเงื่อนไขที่ระบุได้เลย
ส่วนใหญ่แล้ว Point ที่ได้ จะมาจากการชำระค่าโดยสาร BTS เป็นส่วนใหญ่ และก็สามารถนำไปเป็นส่วนลดได้เลย เช่น หากคุณเดินทางครบ 10 เที่ยว จะเอา Point ไปแลกได้ฟรีอีก 3 เที่ยว ซึ่งก็ถือว่าคุ้มมากสำหรับผู้ที่ใช้ BTS ในการเดินทางประจำอยู่แล้ว หรือถ้าไม่ค่อยได้เดินทางบ่อย ก็สามารถเอา Point ไปแลกเป็น Voucher หรือดีลอื่นๆ ที่เข้าร่วมได้ตามใจชอบเลย
ขอบคุณรูปภาพจาก: rabbit.co.th
เติมเงินบัตร Rabbit ได้ที่ไหนบ้าง ต้องเติมที่ BTS อย่างเดียวหรือเปล่า?
สำหรับคนที่เงินหมดจนไม่พอจะชำระค่าโดยสาร BTS สามารถติดต่อขอเติมเงินได้ที่จุดซื้อตั๋ว BTS หรือจะผูกกับ Line Pay ก็ได้ ซึ่งก็จะช่วยให้คุณสามารถเติมเงินผ่าน Wallet ได้เลย เพียงแค่เข้า Line มองหาเมนู Wallet แล้วกดตรงคำว่า Line Pay จากนั้นก็เพิ่มบัตร Rabbit ของคุณลงไปก็เรียบร้อยแล้ว จะเดินทางไปไหนมาไหน หรือจะชำระเงินร้านค้าก็สะดวก
แต่ถ้าหากว่าคุณไม่มี Line หรือไม่สะดวกจะผูกกับ Wallet ก็สามารถเติมเงินกับร้านค้าต่างๆ ที่เขียนว่าเติมเงิน Rabbit ได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีหลายที่มากๆ โดยเฉพาะร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งฟู้ดคอร์ทตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่างๆ ด้วย และถ้าหากไม่อยากไปเติมกับจุดซื้อตั๋ว BTS ที่มักจะมีคนต่อแถวยาวๆ เป็นประจำ ในบริเวณสถานีก็มีตู้เติมเงินอัตโนมัติที่แค่วางบัตรลงไป จากนั้นก็ใส่แบงค์หรือเหรียญที่คุณต้องการเติม ระบบก็จะเติมเงินให้อัตโนมัติแล้ว ข้อดีของการเติมเงินกับตู้นี้ คือเริ่มต้นแค่ 20 บาทเท่านั้น
แนวโน้มของค่าโดยสาร BTS ในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง?
หลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ก็มีข่าวเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งมีโครงการที่จะลดค่าโดยสารเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่าค่าโดยสารจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จะถูกลงจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าหากว่าถูกลงจริงๆ อย่างน้อย 5-10 บาท ก็ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะมากๆ จริงๆ สำหรับชาวคอนโดที่กำลังเดินทางกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกันอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์ Covid-19 เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น