ใครที่ชอบเล่นเฟสบุ๊ก หรืออินสตราแกรมก็คงจะเห็นการเปลี่ยนรูปภาพหน้าตาตัวเองให้กลายเป็นตัวการ์ตูนดิสนีย์กันอยู่บ้าง ซึ่งเพื่อนแต่ละคนของคุณก็มีทั้งเป็นตัวละครเจ้าหญิงผู้โด่งดังต่างๆ บางคนก็เป็นตัวร้ายในการ์ตูน เพื่อนผู้ชายก็กลายเป็นเจ้าชายรูปงามกันไปบ้าง เป็นที่สนุกสนานกันไป สิ่งนี้เกิดจากแอปที่ชื่อว่า Toonme ที่ใครก็สามารถเข้าไปเล่นกันได้
ขอบคุณรูปภาพจาก appgallery.huawei.com
แอปพลิเคชั่น Toonme คืออะไร มีความปลอดภัยในการใช้งานหรือไม่
จริงๆ แล้วจะเรียก Toonme ว่าเป็นแอปพลิเคชั่น หรือจะเรียกว่าเป็นเว็บไซต์แต่งรูปก็ได้ เพราะการใช้งานหลักจะต้องเข้าไปที่ toonme.com เพื่อทำรูปของคุณให้กลายเป็นการ์ตูนต่างๆ รวมถึงตัวการ์ตูนจากดิสนีย์ หรือจะโหลดเป็นแอปพลิเคชั่นลงในมือถือก็ได้ ขออธิบายเพิ่มเติมก่อนว่าแอปนี้ เป็นแอปที่ให้บริการฟรี และก็มีฟีเจอร์ที่เสียเงินอยู่เหมือนกัน การทำงานหลักๆ ก็คือการเอา AI และซอฟต์แวร์บางตัวมาใช้เพื่อจดจำใบหน้าของผู้ที่อัปโหลดรูปลงเว็บหรือลงแอปไป จากนั้นก็มีการสร้างภาพที่เป็นการ์ตูนขึ้น โดยให้มีความคล้ายคลึงกับเจ้าของใบหน้าเดิมมากที่สุด และทำให้ออกมาเป็นแอนิเมชั่นเหมือนเจ้าหญิงดิสนีย์ที่คุ้นตากันดีนี่เอง
บอกก่อนเลยว่า Toonme อาจไม่ได้เป็นเว็บแรกที่มีการเปลี่ยนรูปคนธรรมดาให้เป็นตัวการ์ตูนก็จริง แต่ตัวเว็บก็มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง สำหรับคนที่ตัดสินใจดาวน์โหลดแอปมาไว้บนเครื่อง จะสามารถใช้งานแบบฟรีๆ ได้เพียงแค่ 3 วันแรกเท่านั้น แต่ถ้าอยากใช้ต่อ หรืออยากใช้ออปชั่นลูกเล่นเสริมที่มีในเว็บ ก็จะมีค่าบริการเดือนละประมาณ 150 บาท หรือจะซื้อแบบรายปีก็อยู่ที่ประมาณ 300 บาทเท่านั้น
ทำไมอยู่ดีๆ Toonme ถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมอยู่ดีๆ เพื่อนในเฟสบุ๊กและในไอจีของตัวเองถึงได้กลายเป็นเจ้าหญิง-เจ้าชายจากดิสนีย์กันไปหมด มันเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องขออธิบายที่มาที่ไปเพิ่มสักหน่อยว่า สาเหตุที่ทำให้แอปพลิเคชั่นนี้ได้รับความนิยม เกิดจากนักวาดภาพประกอบฉากแอนิเมชั่นคนหนึ่งของ Marvel ที่เป็นเจ้าของและได้เล่นแอปนี้แล้วเอาไปทำรูปแบบครึ่งคนครึ่งตัวการ์ตูน แล้วเอาไปลงโซเชียลของตัวเอง พร้อมกับติดแฮชแท็กว่า #ToonMe #ToonMechallenge เพียงแค่นั้นก็ทำให้แอปนี้กลายเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว ชาวโซเชียลทุกคนต้องอัปโหลดรูปตัวเองลงไปในเว็บ แล้วอัปลงโซเชียลของตัวเองพร้อมแท็กเพื่อนเพื่อไม่ให้ตัวเองตกยุค และท้ายที่สุดก็มาถึงฝั่งเอเชีย รวมถึงในประเทศไทยด้วย
ถ้าต้องการเปลี่ยนรูปของตัวเองให้กลายเป็นตัวการ์ตูนดิสนีย์ด้วย Toonme ต้องทำอย่างไรบ้าง?
การใช้งานเว็บไซต์ Toonme ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรเลย เพียงแค่กดไปที่ toonme.com จากนั้นให้เลือกอัปโหลดรูปภาพหน้าตรง และมีความสว่างประมาณหนึ่งของคุณลงไปในเว็บ แล้วรอการประมวลผลที่ใช้เวลาประมาณ 1-3 นาที หลังจากนั้นคุณก็จะได้รูปภาพตัวเองในสไตล์ดิสนีย์ที่มีให้เลือกถึง 6 แบบด้วยกัน ชอบรูปไหนก็เอารูปนั้นไปตั้งเป็นภาพโปรไฟล์ได้เลย หรือจะเอาไปลงโซเชียลสนุกๆ ก็ได้
สำหรับคนที่เลือกดาวน์โหลดแอปลงเครื่อง จะต้องเลือกแอปที่มีชื่อว่า Toonme – cartoon yourself! เท่านั้น เพราะตอนนี้ใน App Store และใน Play Store มีหลายแอปพลิเคชั่นที่ชื่อ Toonme เหมือนกัน และบางแอปอาจมีความเสี่ยงต่อการแฮกข้อมูลอีกด้วย วิธีใช้งานก็เหมือนกันเลย เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชั่น แล้วอัปโหลดรูปภาพของคุณที่อยู่ในเครื่อง รอการประมวลผลภาพด้วย AI แล้วก็จะได้ภาพ 6 แบบออกมาเช่นกัน ชอบแบบไหนก็ Save เก็บไว้ได้เลย
ขอย้ำอีกครั้งว่าแอปพลิเคชั่นนี้ไม่ฟรี และสามารถใช้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายได้เพียง 3 วันเท่านั้น ถ้าหากใครตั้งค่ามือถือให้สามารถตัดเงินได้อัตโนมัติต้องระวังสิ่งนี้ให้มากๆ และทางที่ดีก็ควรจะเปิดการตั้งค่าการจ่ายเงินแอปนี้ไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเงินโดยไม่จำเป็นนั่นเอง
รู้จักกับอาการ FOMO อาการทางจิตที่เกิดจากการตามเทรนด์ไม่ทัน
อย่างที่รู้กันดีว่าเทรนด์ถ่ายภาพ หรือเปลี่ยนภาพด้วย AI อะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาไวไปไวมากเหลือเกิน อย่าง Toonme ก็ไม่ใช่เทรนด์แรกๆ ที่เข้ามา และกว่าจะมาถึงไทยก็แทบจะเอ้าท์สำหรับคนทั้งโลกไปแล้วด้วย บางคนก้มหน้าก้มตาทำงานแปบเดียว เงยหน้าขึ้นมาอีกทีก็รู้สึกว่าตัวเองตกยุค หรือตกข่าวไปแล้ว สุดท้ายก็ทำให้เกิดอาการเครียดและวิตกกังวล ซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกได้ว่าเป็นภาวะ FOMO (Fear of Missing)
น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังถูกภาวะนี้ครอบงำอยู่ แต่พฤติกรรมต่างๆ จะแสดงออกได้ชัดเมื่อตัวเองไม่รู้ข่าวสารอะไรบางอย่าง ไม่ทันเทรนด์ที่มาเร็วไปเร็วมาก ยิ่งถ้าโดนเพื่อนแซวบ่อยๆ ว่าทำไมไม่เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ในโซเชียลเลย อย่างเช่นการเล่นแอป Toonme ก็จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้
- มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ยิ่งถ้าไม่ได้เล่นโซเชียลเลย หรือตกเทรนด์จะกระวนกระวายมาก
- มีความวิตกกังวลมาก เมื่อถูกแซวหรือถูกต่อว่าในโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็ตาม
- กลัวว่าตัวเองจะไม่ทันเทรนด์ หรือตกกระแส จนทำให้เกิดการเล่นมือถือแทบจะตลอดเวลา
- รู้สึกเครียดและไม่สบายใจ เมื่อไม่ได้ไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน หรือมีความจำเป็นต้องเลื่อนนัด บางรายอาจมีอาการให้เห็นมากกว่าปกติ เมื่อเพื่อนอัปโหลดรูปภาพลงโซเชียล โดยที่ไม่มีตัวเองอยู่ในภาพ
- มีภาวะซึมเศร้า หรืออาการไม่มีความสุข เมื่อตัวเองไม่ได้เป็นจุดสนใจของเพื่อน
ถ้าหากว่าตัวคุณ หรือคนรอบตัวของคุณมีอาการแบบนี้มากกว่า 3 ข้อ แปลว่ามีภาวะ FOMO เกิดขึ้นแล้ว ควรจะรีบไปพบจิตแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษาปัญหานี้ให้ไวที่สุด จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า 80% ของผู้ที่มีภาวะ FOMO มักจะเป็นชาวเอเชีย และเมื่อดูสถิติการใช้งานอินเตอร์เน็ตในปี 2020 ประกอบด้วย ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า คนไทยคือผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือมากเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 6 ชั่วโมงต่อวัน ก็อาจจะสรุปได้ว่ามีคนไทยจำนวนมากที่มีภาวะ FOMO นี้อยู่เหมือนกัน
จะทำยังไงดี เมื่อรู้ตัวว่ามีภาวะ FOMO แต่ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์
ถ้าหากว่าคุณเข้าข่ายการมีภาวะ FOMO แล้วจริงๆ ซึ่งเกิดจากการตกเทรนด์จากภารกิจส่วนตัวต่างๆ เช่น ไม่ทันได้เล่นเปลี่ยนรูปใน Toonme ไม่ทันได้เข้าไปพูดคุยในแฮชแท็กร้อนทวิตเตอร์ เข้าไปอีกทีก็ตลาดวาย มีแต่คนมาขายของเต็มไปหมดแล้ว หรือไม่ทันได้กรี๊ดไอดอลปล่อยเพลงใหม่ จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขเลย แต่ก็ไม่กล้าพอจริงๆ ที่จะไปพบจิตแพทย์ ก็สามารถรักษาตัวเองด้วยการทำโซเชียลบำบัดได้ เพียงแต่จะต้องตั้งใจและใจแข็งกับตัวเองหน่อย ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1.ตั้งเวลาเล่นมือถือต่อวัน
ลองจับเวลาดูว่าวันหนึ่งคุณใช้มือถือ หรือใช้อินเตอร์เน็ตมากน้อยเพียงใด จากนั้นให้ลดเวลาลงไปเหลือแค่ครึ่งเดียวพอ เช่น จากที่เล่นมือถือวันละ 6 ชั่วโมง ก็ลดให้เหลือแค่วันละ 3 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือก็ให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ไปดื่มกาแฟที่คาเฟ่สวยๆ ไปอ่านหนังสือ ไปออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการไปหาร้านอาหารอร่อยๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ต้องลดการถ่ายรูปการทำกิจกรรมต่างๆ นี้ลงโซเชียลด้วย
2.ปิดการแจ้งเตือนบ้าง
ลองไม่รับรู้สิ่งต่างๆ ดูบ้าง ก็จะช่วยให้คุณปล่อยวางได้เยอะขึ้น เริ่มจากการปิดการแจ้งเตือนช่องทางโซเชียลของคุณทุกอย่างก่อน ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้ ส่วนไลน์ก็อาจจะตั้งเตือนแค่เรื่องงาน บุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่จำเป็นเท่านั้นก็พอ ค่อยมาเช็กทีเดียวตอนเย็นหรือตอนก่อนนอนไปเลยทีเดียว
3.ใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อนสนิทบ้าง
บางคนเสพติดโซเชียลมากไปจนไม่มีเวลาให้คนในครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ไม่ได้ติดมือถือเลย เพราะฉะนั้นลองวางมือถือไว้ในห้องนอน แล้วลงไปนั่งคุย นั่งกินข้าวกับคนในครอบครัวดูบ้าง ถ้ากลัวจะเหงาก็ลองนัดเพื่อนออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันดู ยิ่งคุณไม่ว่างมากเท่าไร โอกาสจะหยิบมือถือขึ้นมาเล่นก็น้อยลงไปด้วย
4.ไปเที่ยวในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
เดี๋ยวนี้มีโรงแรมและรีสอร์ตที่ให้บริการแบบนี้เยอะมาก ลองเก็บกระเป๋าแล้วจองที่พักสัก 1-2 คืน ไปพักผ่อนแบบไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ใดๆ เลย จะพูดคุยติดต่อกับใครก็ไม่ได้ วิธีนี้อาจจะทรมานหน่อยสำหรับคนที่ติดโซเชียลจริงๆ แต่เป็นการบำบัดที่ดีมาก เพราะคุณจะได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นกว่าที่เคย และจะได้เสพความสุขที่เกิดจากธรรมชาติรอบตัว ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าพอกลับมาบ้าน คุณอาจจะไม่นึกอยากเล่นมือถือไปอีกสักพักใหญ่ๆ เลยก็เป็นได้
5.ปิด Account โซเชียลของตัวเองไปเลย
นี่เป็นวิธีการหักดิบที่อาจจะโหดร้ายไปสักนิด แต่ก็ได้ผลดีไม่แพ้กัน ลองปิดแอคเคาท์โซเชียลต่างๆ ของคุณดู ไม่ต้องคอยอัปเดตว่าชีวิตใครเป็นยังไง ไม่ต้องรู้ว่าตอนนี้มีเทรนด์อะไรบ้าง หรือถ้าหากไม่อยากปิดจริงๆ ก็เริ่มจากการออกจากระบบเฉยๆ ก็ได้ ลองตั้งเวลาดู เริ่มจาก 3 วัน 5 วัน และ 15 วัน หากทำได้สำเร็จคุณจะพบเลยว่าโลกนี้มีอะไรให้ทำเยอะแยะเต็มไปหมด
6.พูดคุยกับจิตแพทย์ผ่านวิดีโอคอล
สมัยนี้การพบจิตแพทย์ไม่จำเป็นจะต้องไปที่โรงพยาบาลหรือคลินิกแล้ว มีหลายแพลตฟอร์มที่ให้บริการพบจิตแพทย์ผ่านวิดีโอคอลได้ หรือถ้าหากว่าคุณไม่โอเคกับการเปิดหน้าให้จิตแพทย์เห็นจริงๆ จะใช้แค่การโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวก็ได้ การรักษาแบบนี้เป็นการรักษาที่เห็นผลเร็วที่สุด และยังช่วยให้คุณได้ทำความเข้าใจกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณอยู่ตอนนี้ด้วย ไม่ใช่แค่ภาวะ FOMO อย่างเดียวที่ปรึกษาได้ เรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่เจอมาก็สามารถปรึกษากับจิตแพทย์ได้เช่นกัน
ไม่จำเป็นเลยที่คุณจะต้องวิ่งตามเทรนด์ทุกอย่าง อย่างในตอนนี้ที่ดูเหมือนว่า Toonme จะไม่ได้เป็นที่นิยมแล้ว แต่ถ้าคุณอยากเล่นจริงๆ หรือพึ่งมาเห็นทีหลังก็ไม่ต้องกลัวจะอาย เล่นไปเลยอย่างที่คุณอยากเล่น ชีวิตเป็นของคุณอยากทำอะไรก็ทำ อย่าเอาตัวเองไปยึดติดกับโซเชียลเพียงอย่างเดียว ชีวิตคุณก็จะมีความสุขอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว
ขอบคุณรูปภาพจาก toonme.com