หลัง ‘ออกเจ’ ต้องกินอย่างไร ให้สุขภาพดีมีบาลานซ์

ในเทศกาลกินเจที่เรางดกินเนื้อสัตว์มาตลอด 9 วัน 9 คืน หรือบางคนกินเจนานถึง 10 วันเลยก็มี แล้วอยู่ดีๆ จะสับสวิตช์เปิดรับเหล่า Meat เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ หรือเนื้อเป็ด เข้าร่างกายแบบปุ๊บปั๊บ แน่นอนว่าคงไม่ส่งผลลัพธ์ที่ดีกับร่างกาย หรือระบบย่อยของเราสักเท่าไหร่

เพราะช่วงที่กินเจส่วนใหญ่ระบบย่อยได้ทำความคุ้นเคยกับวิถีการย่อยแบบจำพวกผัก, ผลไม้, ถั่ว, ธัญพืช รวมไปถึงอาหารจำพวกแป้งด้วย เรียกได้ว่าคำว่า ‘เนื้อสัตว์’ ถูกตัดออกจากสารระบบชั่วคราวเลยก็ว่าได้ การจะใส่เนื้อสัตว์เข้าไปใหม่คงต้องให้เวลากับระบบย่อยภายในสักนิดนึง เราจึงมีทริคเล็กๆ 4 ข้อมาแนะนำให้คนที่กำลังจะออกเจ ได้เข้าใจวิธีการปรับสมดุลให้ร่างกายสุขภาพดีมีดังนี้

1. อย่าเพิ่งกินเนื้อสัตว์ และลดความจัดจ้านในจาน
ออกเจปุ๊บใครมีแพลนมุ่งไปหมูกระทะ นัดเพื่อนชาบูหนักๆ อยากแนะนำให้พับโครงการไว้ก่อน (อดใจนิดเดียว) เพราะในช่วง 1-3 วันแรกของการ ‘ออกเจ’ เป็นช่วงเวลาที่ควรเพิ่มโปรตีนให้ร่างกายก็จริง แต่ควรเน้นกินไข่ นม หรือเนื้อปลาแทนไปก่อน เพราะย่อยง่ายและเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้ควรลดปริมาณอาหารประเภทแป้ง และไขมันไปก่อน เพราะช่วงเทศกาลกินเจทุกเมนูมักมีส่วนผสมของแป้ง และไขมันอยู่พอสมควร

ซึ่งมันก็จะมีทริคเล็กๆ ที่ช่วยลดไขมัน และลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกายของเราได้บ้างนั่นก็คือ เราต้องกิน ‘ผักที่มีไฟเบอร์กากใยสูง’ เช่น แครอท, บล็อคโคลี่, กระหล่ำดาว, เทอร์นิพ ก็จะมีส่วนช่วยจัดการกับไขมันที่สะสมอยู่บ้าง รวมไปถึงกรรมวิธีการปรุงอาหารที่เน้นไปทางต้ม, นึ่ง, ย่าง และเลี่ยงรสชาติจัดจ้าน หวาน มัน เค็ม และที่สำคัญต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้อ

2. เสริมโปรตีนด้วยไข่ และปรับการดื่มนม
บูสเตอร์โปรตีนให้ร่างกายก่อนใคร เพราะในช่วงเทศกาลกินเจร่างกายเราอาจได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ แหล่งโปรตีนที่ได้ส่วนใหญ่จะมาจากถั่ว และธัญพืช ซึ่งถ้าเทียบกับปริมาณการกินต่อมื้อ และปริมาณโปรตีนที่ได้รับอาจไม่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการนั่นเอง

ดังนั้นหลังจากออกเจจึงแนะนำให้ลองต้มไข่ไก่กินวันละ 1-2 ฟอง ถ้ามีความกังวลเรื่องแคลอเตอรอล ก็สามารถเปลี่ยนเป็น ‘ไข่ขาว’ ทดแทนกันได้ และต่อมาต้องพาระบบย่อยไปรู้จักกับ ‘นมวัว’ นมจากสัตว์ที่ห่างหายไปตลอด 9 วัน ซึ่งถ้าดื่มแบบปกติเลยทันทีอาจมีอาการท้องอืดได้ แนะนำให้ค่อยๆ ปรับการดื่มเป็น ½ แก้วหลังมื้ออาหาร หรือถ้าดื่มทีละนิดแล้วยังอืดท้อง ลองนำเปลี่ยนมาดื่มนมอุ่นๆ หลังมื้ออาหารก่อนได้ แต่ไม่ควรทานนมตอนท้องว่าง

3. ค่อยๆ เพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์หลังออกเจ วันที่ 4
มาถึงวันที่ 4 ของการออกเจ ถือเป็นวันดีเดย์ที่คุณจะเริ่มกินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเนื้อหมู, เนื้อไก่, เนื้อวัว หรืออื่นๆ แต่ยังคงอยู่ในปริมาณที่พอดิบพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป หรือจะค่อยๆ จัดสัดส่วนร่วมกับไข่ และเนื้อปลา เพื่อให้ได้รับโปรตีนที่เพียงพอในแต่ละมื้อ ก่อนเริ่มเข้าสู่การกินเนื้อสัตว์ในปริมาณปกติ
และทั้งนี้อย่าลืมเสริมด้วยผัก ผลไม้ ดูแลอาหารจัดสัดส่วนให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้อ

4. ออกกำลังกาย เบิร์นอาหารจำพวกแป้ง และไขมันสะสม
สำหรับการออกกำลังกาย หลัง ‘ออกเจ’ ขอแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
– ช่วงสัปดาห์แรก หลังออกเจ แนะนำให้วิ่งเหยาะๆ บนลู่, วิ่งในสวนสาธารณะ หรือจะขยับร่างกายตามคลาสออนไลน์ใน YouTube ก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ยกเวท เล่นหน้าท้องหนักๆ เพราะหากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้ไม่สามารถสร้างกล้ามเนื้อได้เต็มที่
– ช่วงสัปดาห์ที่สองเป็นต้นไป คุณสามารถออกกำลังกายได้เต็มที่ ไม่ว่าจะยกเวท เล่นท้อง ปั้นรอกล้าม พร้อมรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนให้เพียงพอ และครบถ้วน 5 หมูเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

และสิ้นสุดเทศกาลกินเจปีนี้ ใครอยากสุขภาพดี มีบาลานซ์ที่สมดุลในร่างกาย อย่าลืมวางแผนการกินอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

 

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top