Sharing Economy ปล่อยเช่า-เราใช้ แพลตฟอร์มธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรที่มีทำกำไร

Sharing Economy คืออะไร? แล้วเกี่ยวข้องกับผู้ที่อยากลงทุนขนาดไหน?

ซึ่งหากย้อนคิดดูดีๆ Sharing Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ไม่ใช่ตลาดน้องใหม่ของเศรษฐกิจแต่อย่างไร เพราะมีอยู่ในบริบทของสังคมมานานมากๆ ไม่ว่าจะเป็น การเช่ารถยนต์, เช่าบ้าน หรือเช่าคอนโด แต่ในปัจจุบันแนวโน้มของ Sharing Economy กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 กว่า 50% ของเศรษฐกิจโลกอาจมาจากธุรกิจแบบ Sharing Economy ก็เป็นได้

เพราะด้วยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ Gen C เป็นต้นไป จะชอบความว่องไว คล่องตัว และปรับเปลี่ยนได้ หลายๆ สินค้าจึงไม่ถูกตัดสินใจซื้อ แต่เลือกใช้รูปแบบเช่ามากขึ้น ถึงขนาดมี ‘บริการเช่าสมาร์ตโฟน’ เพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตกันเลยทีเดียว หรือส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมความใส่ใจโลก Sustainability จึงเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนนั่นเอง

เมื่อโลกหมุนไว และพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม Sharing Economy ก็เป็นเสมือนช่องทางใหม่ๆ ที่เหล่านักธุรกิจขอลงสนามเพื่อแบ่งสัดส่วนทางการตลาดมากมาย แบ่งออกได้ดังนี้

  • Ride Sharing ธุรกิจให้เช่ารถยนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น HAUP และ KINTO One บริการเช่ารถยนต์ เช่ารถพลังงานไฟฟ้าแบบรายวัน-ระยะยาว หรือบริการแชร์การเดินทางโดย Grab, Bolt, CABB เรียกรถยนต์มารับถึงที่โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของหรือออกรถใหม่
  • House Sharing ธุรกิจให้เช่าบ้านรายวันให้นักท่องเที่ยว โดยที่เจ้าของไม่จำเป็นต้องมีสร้างโรงแรม และสามารถกำหนดราคา-วันเวลาให้บริการได้เองผ่านแพลตฟอร์ม เช่น Airbnb
  • Coworking ธุรกิจแบ่งปันพื้นที่ให้เช่าทำงาน มีตั้งแต่รายชั่วโมงจนถึงรายเดือน เป็นที่นิยมในกลุ่ม Freelance และธุรกิจสตาร์ตอัพ และยังแบ่งปันพื้นที่คลังสินค้า,พื้นที่เก็บของสำหรับธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย
  • Streaming ธุรกิจแบ่งปันคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Netflix หรือ Spotify ที่ให้ผู้ใช้แชร์คอนเทนต์หนัง ฟังเพลง ผ่านสตรีมมิ่งได้เลย
  • Product Sharing ธุรกิจให้เช่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีมูลค่า เช่น เช่าสมาร์ตโฟน, เช่ากระเป๋าแบรนด์เนม หรือเช่าสินสอดสำหรับงานแต่ง เป็นต้น
  • Niche Service ธุรกิจแบ่งปันในรูปแบบอื่นๆ โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นตัวกลาง เช่น แอปฯ บริการแม่บ้าน, แอปฯ บริการขนของย้ายบ้าน เป็นต้น

ผลดี-ผลกระทบของ Sharing Economy ต่อเศรษฐกิจไทย

การเติบโตที่น่าจับตามองของ Sharing Economy แน่นอนว่าจะมีทั้งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจบางส่วนซึ่งก็เป็นหน้าที่รัฐจะต้องประเมินเพื่อหาทางออก

มาเริ่มดูกันในส่วนของ ‘ผลลัพธ์ที่ดีของ Sharing Economy’ การเติบโตของแพลตฟอร์มต่างๆ จะส่งผลให้การระดับการจับจ่ายใช้สอยในเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น แรงงานบางกลุ่มสามารถผันตัวเองเป็น Self-employed ได้, มีอาชีพเสริม หรือสามารถเพิ่มช่องทางหารายได้จากเดิมได้ เช่น คนขับ Taxi สามารถให้ผู้โดยสารเรียกรถผ่านแอปฯ ได้โดยไม่ต้องไปจอดรอ

แต่ในทางกลับกันเมื่ออัตรา Self-employed หรือ ‘คนที่ทำงานเป็นนายตัวเอง’ มีจำนวนสูงขึ้น การเรียกเก็บภาษีของรัฐจะทำได้ลดน้อยลง ส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลัง หรืออาจเกิดปัหาขาดแคลนแรงงานได้

และสำหรับนักลงทุนที่สนใจอยากปล่อยเช่า แชร์กันใช้ใน Sharing Economy ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เป็นสำคัญ

  1. ค่าบริการที่ถูกกว่า หรือสมเหตุสมผล
  2. ความสะดวกสบายในการเช่า
  3. ประสบการณ์ระหว่างเช่า
  4. โปรโมชั่นดึงดูดใจ
  5. คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าที่ใช้บริการ

ข้อสรุปสำหรับ Sharing Economy หากจะให้ประสบความสำเร็จดีต้องมีแพลตฟอร์มที่พร้อมรองรับบริการเช่า เราสามารถไปเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มนั้นๆ หรือจะเริ่มลงทุนปล่อยเช่าสินค้าด้วยตัวเองและใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียจัดการความสะดวกสบายนี้ได้เช่นกัน ใครมีสินค้าคูลๆ อยากปล่อยเช่า แชร์กันใช้ก็สามารถลองดูได้เลย

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top