ก่อน ‘กู้ร่วม’ กู้ใจ…มีเรื่องไหนที่ต้องรู้บ้าง

สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังตัดสินใจเรื่องการ ‘กู้ร่วม’ หรือทำสินเชื่อร่วมกับบุคคลอื่น วันนี้ Ananda จะชวนทุกคนมานั่งจับเข่าคุย รู้เรื่องที่จำเป็นต้องรู้ก่อนตัดสินใจร่วมกัน

การกู้ร่วม คือ การทำสัญญากู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน โดยมีบุคคลอื่นมาร่วมกู้ ร่วมรับผิดชอบสินเชื่อก้อนนี้ เป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติวงเงินได้ง่าย และสูงมากขึ้น โดยปกติการ กู้ร่วมซื้อบ้าน หรือคอนโด จะมีผู้กู้ และผู้กู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คนนั่นเอง

ประโยชน์ของการ กู้ร่วม ซื้อบ้านหรือคอนโด

  • ขออนุมัติสินเชื่อง่าย: เพราะสำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้านหรือคอนโด การหาผู้กู้ร่วมที่มีสุขภาพทางการเงินที่ดีแข็งแรง จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธนาคารได้มากขึ้น
  • ได้วงเงินสินเชื่อสูง: เนื่องจากธนาคารผู้ออกสินเชื่อจะนำฐานเงินเดือน หรือรายได้มาพิจารณา ดังนั้นจึงมีโอกาสได้วงเงินที่สูงขึ้นกว่ากู้คนเดียว
  • กระจายความเสี่ยง: การกู้ร่วมเป็นการร่วมกันผ่อนชำระหนี้ ดังนั้นหากมีคนใดคนหนึ่งเกิดปัญหาติดขัด เงินขาดมือ ก็ยังมีผู้กู้ร่วมที่คอยซัพพอร์ตและชำระหนี้ตามกำหนด

นอกจากข้อดีของการกู้ร่วมแล้ว ก็ยังมีข้อที่ควรระวัง ดังนี้

  • การผิดใจกัน: ระหว่างสัญญาผู้กู้ และผู้กู้ร่วมอาจเกิดการผิดใจกัน ซึ่งหากคนใดคนนึงผิดชำระหนี้ ผู้กู้ร่วมที่เหลือก็ต้องรับผิดชอบแบบเต็มๆ เพราะการกู้ร่วมไม่ได้แปลว่าจะต้องหารหนี้เท่ากัน
  • สิทธิลดหย่อนภาษี ถูกหารแบ่ง: โดยปกติสินเชื่อบ้านจะลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท แต่หากมีผู้กู้ร่วมเกิน 2 คน ส่วนที่ลดหย่อนภาษีก็จะถูกหารไปตามจำนวน เช่น ลดหย่อนได้ 100,000 บาท จะต้องหารกับผู้กู้ร่วมเหลือเพียงคนละ 50,000 บาทในการลดหย่อนภาษีเงินได้
  • มีผลต่อการตัดสินใจขาย: การมีผู้กู้ร่วมหารต้องการขายบ้านหรือโอนกรรมสิทธิ์ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้กู้ร่วมอีกคนเท่านั้น

แล้วใครหล่ะจะ ‘กู้ร่วม’ กับเราได้บ้าง?

ก่อนอื่นต้องบอกว่า การกู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด โดยส่วนใหญ่จะทำได้กับบุคคที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน

  • คนที่ใช้นามสกุลเดียวกัน เช่น พ่อ, แม่, พี่น้อง, คู่สมรส(จดทะเบียน) หรือลูก
  • คนในครอบครัวที่เปลี่ยนนามสกุล โดยต้องแสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนในครอบครัวจริง
  • คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน ต้องแสดงภาพงานแต่ง, การ์ดงานแต่ง หรือหนังสือรับรองบุตร เพื่อพิสูจน์สถานะ
  • คู่รัก LGBTQ+ ในปัจจุบันหลายๆ ธนาคารเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมซื้อบ้าน ซื้อคอนโดเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแต่ละธนาคาร

ซึ่งในสัญญาการกู้ร่วมกัน สามารถใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ 2 แบบ ได้แก่

  • ใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้กู้ร่วมอื่นๆ จะไม่มีสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นี้
  • ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้กู้ร่วมทุกคนจะได้รับสิทธิ์ที่เท่ากัน

หากระหว่างสัญญาต้องการ ‘ถอนกู้ร่วม’ ทำได้หรือไม่? มีวิธีจัดการแบบไหนบ้าง

  • ถอนชื่อกู้ร่วม เมื่อเกิดความผิดใจกัน จนไม่อยากชำระหนี้ร่วมกันต่อไป สิ่งแรกให้ติดต่อไปที่ธนาคารทำการตกลงว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบสินเชื่อต่อไปและแจ้งถอนชื่อผู้กู้ร่วมออก (หากเป็นสามีภรรยาที่หย่าร้าง จะต้องนำเอกสารใบหย่ามาแสดง) และธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ต่อในขั้นตอนถัดไป
  • รีไฟแนนซ์ เป็นการกู้คนเดียว หากไม่สามารถถอนชื่อกู้ร่วมได้ อาจต้องแก้ปัญหาด้วยการรีไฟแนนซ์จาก ‘กู้ร่วม’ เป็น ‘กู้เดี่ยว’ โดยขั้นตอนการพิจารณาการรีไฟแนนซ์จะดูจาก รายได้ผู้กู้, ยอดดาวน์, เช็กภาระหนี้สินต่อเดือน และประวัติเครดิตบูโร
  • ขายบ้านหรือคอนโด จากข้อ 1 และ ข้อ 2 หากพิจารณาแล้วยังไม่สามารถถอนผู้กู้ร่วมได้ ทางออกสุดท้ายคือ ‘ขายบ้าน’ หรือ ‘ขายคอนโด’ เพื่อปิดชำระยอดสินเชื่อไป แน่นอนว่าจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายทั้งค่าธรรมเนียมการโอน, ค่าตรวจบ้าน เป็นต้น

ดังนั้นก่อนตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้านซื้อคอนโด เพื่อนๆ ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคตเพราะหากตัดสินใจผิดพลาดปัญหาชวนปวดเฮดก็จะตามมาไม่หยุดหย่อน จนกว่าเราจะหยุดผ่อนและปิดชำระหนี้ได้อย่างสมบูรณ์ และนอกจากนี้หาก ‘กู้ร่วม’ หนึ่งครั้งแล้วติดปัญหาระหว่างสัญญา การกู้ร่วมครั้งหน้าก็จะทำได้ยากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top