กิน ‘ส้มโอ’ ตรงฤดูกาล | ผลไม้หน้าฝน รสสดชื่น

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม – กลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ผลไม้หลากหลายชนิดออกผลผลิตจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือ ส้มโอ (Pomelo) ผลไม้ไทยที่ออกผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายน เราจึงชวนเพื่อนๆ ทุกคนมาชวนกินผลไม้ตรงฤดูกาลอย่าง ส้มโอ (Pomelo) ในช่วงเวลานี้กัน โดยข้อดีของการกินผลไม้ตรงฤดูกาลคือ เพื่อนๆ จะได้กินผลไม้ที่คุณภาพดี, รสชาติอร่อยเต็มที่, มีสารเคมีเร่งการเติบโตน้อย, ไม่มีการตกแต่งพันธุกรรม เพราะปลูกตามระยะเวลาธรรมชาติของผลไม้นั่นเอง และ ‘ส้มโอ’ ก็เป็นหนึ่งในผลไม้หน้าฝนที่รสชาติอร่อย มาพร้อมประโยชน์ที่ดีด้วยเช่นกัน

ส้มโอสายพันธุ์ในไทยมีมากกว่า 30 สายพันธุ์ โดยแต่ละพันธุ์จะให้สีและรสชาติที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น

  • พันธุ์ขาวทองดี สีเนื้อชมพูอ่อน ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว สดชื่นฉ่ำน้ำ นิยมปลูกที่นครปฐม, สมุทรสาคร และราชบุรี
  • พันธุ์ทับทิมสยาม สีเนื้อชมพูเข้มหรือสีแดงคล้ายทับทิม มีรสชาติหวาน ไม่ขม นิยมปลูกที่นครศรีธรรมราช
  • พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง สีเนื้อขาวอมเหลือง รสชาติหวานอมเปรี้ยว เหมาะนำมาทำยำส้มโอ นิยมปลูกที่นครปฐม
  • พันธุ์ขาวแตงกวา สีเนื้อขาวอมเหลือง รสชาติหวานอมเปรี้ยว แกะเนื้อง่าย นิยมปลูกที่ชัยนาท
  • พันธุ์ขาวพวง สีเนื้อขาว เปลือกหนา รสชาติหวานอมเปรี้ยว ฉ่ำน้ำ นิยมปลูกที่นครปฐม, สมุทรสาคร, ราชบุรี, ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี

ก่อนจะไปเลือกทาน ส้มโอ  (Pomelo) เราลองมาดูประโยชน์ดีๆ ที่จะได้รับจากการกินส้มโอและการใช้เปลือกส้มโอไปเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรไทยกันเลย

  • เนื้อส้มโอ มีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น มีวิตามินซีสูง ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย, ใยอาหารสูง ช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้, ปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด, อุดมไปด้วยโพแทสเซียม, ช่วยระบบไหลเวียนเลือดดี และอื่นๆ อีกมากมาย โดยในปริมาณส้มโอ 100 กรัม ให้พลังงาน 41 กิโลแคลอรี, น้ำตาล 8 กรัม, ใยอาหาร 1.2 กรัม
  • เปลือกส้มโอ นอกจากเนื้อส้มโอที่ทานได้เลยแล้ว เปลือกส้มโอ ยังสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรไทยได้ มีคุณสมบัติช่วยแก้ลม วิงเวียน ตาลาย ใจสั่น รวมถึงยังขับลม ขับเสมหะ แก้จุกแน่นได้

เมื่อรู้ประโยชน์ของ ส้มโอ แล้วเราจะพาเพื่อนๆ มารู้จักวิธีการเลือกส้มโอ, ปอกส้มโอ จนถึงปรุงส้มโอรูปแบบใหม่ๆ ให้ทานได้ไม่เบื่อกัน

เริ่มจากวิธีการเลือกส้มโอ

  • เลือกส้มโอที่เปลือกมีผิวด้านนอกเรียบละเอียด ไม่ขรุขระ
  • เลือกส้มโอที่มีสีเขียวอ่อน หรือมีสีเหลืองแซมอยู่
  • เลือกผลที่มีน้ำหนัก เพราะถ้าส้มโอยังไม่สุกจะมีน้ำหนักเบา

วิธีการปอกเปลือกส้มโอให้ไม่ขม

  • ใช้มีดปอกส้มโอ 2 เล่ม โดยแยกปอกเปลือกด้านนอก (สีเขียว) กับปอกเปลือกด้านใน (สีขาว)
  • ใช้มีดเล่มแรกตัดหัวและท้ายของส้มโอ จากนั้นปอกเปลือกด้านนอกสีเขียวออก
  • นำส้มโอที่ยังมีเปลือกด้านใน (สีขาว) ไปล้างเอาน้ำมันออก
  • เปลี่ยนเป็นมีดเล่มที่สอง (หรือนำมีดเล่มแรกไปล้างให้สะอาด) เพราะเปลือกด้านนอกมีความขมจะติดมีดมาได้
  • ปอกเปลือกด้านในสีขาวออก จนเห็นร่องเนื่อส้มโอ
  • ใช้มีดกรีดนำร่อง ก่อนแกะส้มโอออกเป็นกลีบๆ พร้อมดึงเส้นใยขาวออกเพื่อความสวยงาม

จากนั้นสามารถนำส้มโอไปแช่ในตู้เย็น นำมาออกมากินสดๆ ได้เลยทันที หรือนำไปปรุงเป็นเมนู ยำส้มโอ หรือ ส้มโอลอยแก้ว จะมีวิธีการทำแบบไหนมาดูกันเลย

วิธีทำยำส้มโอ

  • เคี่ยวกะทิให้เดือดจากนั้นพักไว้ให้เย็น
  • จากนั้นผสมเตรียมหม้อใส่น้ำเปล่า, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลา, น้ำมะขามเปียก, น้ำมะนาว และน้ำพริกเผา นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวให้ส่วนผสมเข้ากันจากนั้นเดิมกะทิที่พักไว้ลงไปคนให้เข้ากัน
  • นำส้มโอที่ปอกแล้วมายำผสม ใส่พริกขี้หนูแห้ง, มะพร้าวคั่ว, ถั่วลิสงบุบ หรือเครื่องผสมที่ต้องการ นำไปทุกอย่างผสมให้เข้ากันก่อนจัดใส่จาน

วิธีทำส้มโอลอยแก้ว

  • เตรียมส้มโอที่ปอกเปลือกแล้วผึ่งไว้ให้แห้ง
  • นำส้มโอลงไปแช่ในน้ำเชื่อมดอกมะลิ หรือน้ำเชื่อมปกติ 2 ช้อนโต๊ะ (แช่ได้นานสูงสุด 1 คืน)
  • นำเนื้อส้มโอที่แช่ในน้ำเชื่อมใส่ถ้วย โปะด้วยน้ำแข็งป่นตามชอบ พร้อมทาน

หรือเพื่อนๆ มีวีธีการทานส้มโอแบบไหนที่อยากแชร์ สามารถคอมเมนต์พูดคุยกันได้ในบล็อกนี้เลย

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top