สำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือ มือเก๋าที่กำลังสนใจ ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) นั่นก็คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับการใช้ดำเนินกิจการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การขยายธุรกิจ, การซื้ออุปกรณ์ หรือแผนก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น โดยจะแตกต่างจาก ‘พันธบัตรรัฐบาล’ หรือ ตราสารหนี้รัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยรัฐบาล หรือ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
กลับมาพูดคุยกันต่อที่ ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) หากนักลงทุนเป็นผู้ซื้อหุ้นกู้ สถานะจะกลายเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นลูกหนี้ ซึ่งจะมีการระบุสัญญาการจ่ายดอกเบี้ยและเงินกู้คือตามที่กำหนด อาจจะ 3 ปีหรือระยะยาว 10 ปีขึ้นอยู่ตามสัญญา โดยผลตอบแทนจะอยู่ในรูปแบบดอกเบี้ย อาจมีการจ่ายออกในทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% เหมือนรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นทุน ทั้งนี้ก่อนลงทุนควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง
แล้วประเภทของ ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) มีอะไรบ้าง? ซึ่งแน่นอนว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) จะมีหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้สนใจหุ้นกู้ของบริษัท โดยแบ่งออกมาได้ 5 ประเภทดังนี้
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย แต่จะอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าเจ้าหนี้สามัญ
- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ลำดับเท่ากับเจ้าหนี้สามัญ
- หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้สามารถเปลี่ยนหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทตามราคาที่กำหนดไว้
- หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารหนี้มีทรัพย์สินเป็นประกัน โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในสินทรัพย์ที่ค้ำประกันเหนือกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ
- หุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ เป็นประกัน
การลงทุนใน ‘หุ้นกู้’ (Corporate Bond) แต่ละประเภท ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุนของตัวเอง และวัดระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับมือได้ ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนประเภทของหุ้นกู้ที่เหมาะสมกับเรา
หากเทียบการลงทุนระหว่าง หุ้นสามัญ (Common Stocks) กับ หุ้นกู้ (Corporate Bond) ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนที่ลักษณะคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น
- หุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ต่างจากหุ้นสามัญที่สถานะของผู้ลงทุน คือ ผู้ถือหุ้น
- หุ้นกู้ มีระยะการลงทุนที่แน่นอน ในสัญญามีการกำหนดระยะเวลาจ่ายดอกเบี้ย และจ่ายเงินคืน
- หุ้นกู้ ได้รับผลตอบแทนเป็น ดอกเบี้ย ต่างจากหุ้นสามัญที่ผลตอบแทนจะเป็นในรูปแบบของเงินปันผล
- หุ้นกู้ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนผ่านบริษัทเอกชนผู้ออกตราสารหนี้ได้โดยตรง หรือดำเนินการผ่านธนาคารบางแห่ง เป็นต้น