เคยไหม? กินอิ่มเสร็จทีไร รู้สึกอยากจะฟุบหลับคาที่ทุกที แบบไม่สนอะไรในโลก อาการนี้มีชื่อเรียกว่า Food Coma หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Postprandial Somnolence (ความง่วงหลังอาหาร) เป็นอาการที่หลายคนต้องเคยเจอหลังจากมื้อหนัก ๆ โดยเฉพาะมื้อที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารที่ให้พลังงานสูง
Food Coma เกิดจากการที่ร่างกายของเราต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการย่อยอาหาร ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงระบบทางเดินอาหารมากกว่าสมอง ส่งผลให้รู้สึกง่วงซึมและพลังงานในร่างกายลดลงทันที
สาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการ Food Coma
- น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือของหวาน น้ำตาลในเลือดจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายจึงต้องหลั่งอินซูลินเพื่อนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย กระบวนการนี้ทำให้เกิดการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดในภายหลัง ส่งผลให้เพื่อน ๆ รู้สึกง่วงและพลังงานหมด
- เลือดถูกดึงไปที่กระเพาะอาหาร หลังจากรับประทานอาหาร ระบบย่อยอาหารต้องการเลือดจำนวนมากเพื่อช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง นั่นคือเหตุผลที่เพื่อนรู้สึกง่วงหลังมื้ออาหาร
- ร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางประเภท อาหารบางประเภท เช่น โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต มีส่วนกระตุ้นการหลั่งของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีผลต่อการทำให้รู้สึกผ่อนคลายและง่วง
- ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก ถ้าเพื่อน ๆ กินมื้อใหญ่จนเกินไป ระบบย่อยอาหารจะต้องทำงานหนักขึ้น ร่างกายจึงดึงพลังงานส่วนใหญ่ไปใช้ที่กระเพาะอาหาร ทำให้สมองรู้สึกอ่อนล้า
วิธีป้องกัน Food Coma ง่ายๆ ทำได้ทุกวัน
ลดขนาดมื้ออาหาร กินมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารไม่ทำงานหนักจนเกินไป เลือกกินอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ธัญพืช ผัก และโปรตีน เพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงหลังมื้ออาหาร
เคี้ยวอาหารช้าๆ และอย่ารีบร้อน เพราะจะช่วยให้ระบบย่อยทำงานดีขึ้นและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น หลังมื้ออาหาร ลองเดินย่อยเบาๆ 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและลดอาการหนักท้อง และอย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าร่างกายอ่อนเพลีย เพื่อน ๆ จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิด Food Coma มากขึ้น