ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้านั้นเป็นเหมือนหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายของคนกรุงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อไปทำงาน ไปบ้านเพื่อน ไปเดินห้าง ไปติดต่อราชการ ไปโรงพยาบาล และอีกหลายจุดหมายปลายทางที่ระบบขนส่งทางรางจะพาคุณไปถึง แน่นอนว่าถึงแม้จะมีระบบขนส่งมวลชน อย่างรถไฟฟ้าเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและลดปริมาณการจราจรบนท้องถนนแล้ว การใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็ยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเดินไม่กี่ก้าวแล้วไปถึงสถานีได้เลยซะทีเดียว ในครั้งนี้เราจะพาไปดูกันว่า ในพื้นที่ให้บริการสถานีรถไฟฟ้าแต่ละสถานีในกรุงเทพฯ มีสถานีไหนบ้างที่ให้บริการที่จอดรถ รวมไปถึงพื้นที่ร้านค้า เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการกันบ้าง
ปี 2559 กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 5 สาย มีพื้นที่จอดรถทั้งหมด 17 แห่ง สามารถจอดรถได้รวม 11,858 คัน ทั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส, สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ โดยที่จอดรถในแต่ละสถานีก็มีทั้งเปิดให้บริการรายวันและรายเดือน ทั้งฟรีและมีค่าใช้จ่าย อนึ่งก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถ อีกทั้งยังเป็นการเน้นให้เกิดการใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว หากการพัฒนารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นต่างๆแล้วเสร็จ จะมีที่จอดรถเพิ่มขึ้นอีกถึง 22,697 คัน โดยแบ่งออกเป็น
-
รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้บริการในเดินเมษายน พ.ศ.2562 โดยที่จอดรถจะอยู่ที่สถานีหลักสอง เป็นอาคารจอดรถจำนวน 2 อาคาร รองรับรถได้ประมาณ 1,000 คัน โดยแบ่งออกเป็นอาคารจำนวน 10 ชั้น รองรับรถได้ 650 คัน และอาคาร 8 ชั้นรองรับรถได้ 350 คัน
-
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 โดยที่จอดรถอยู่ที่สถานีเคหะสมุทรปราการ 1,200 คัน สถานีกม.25 รองรับรถได้ 1,042 คัน และสถานีคูคต รองรับรถได้ 713 คัน
-
รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดการณ์เปิดให้บริการในปี 2563 มีที่จอดรถอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ รองรับรถได้ 1,700 คัน
-
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดให้บริการายในปี 2563 ที่จอดรถอยู่ที่สถานีมีนบุรี รองรับรถได้ 3,000 คัน
-
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี คาดการณ์เปิดให้บริการปี 2565 ที่จอดรถใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีัมีนบุรี และคาดการณ์ที่จอดรถเพิ่มอีก 1 แห่ง สามารถรองรับรถได้ 1,200 คัน
-
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดให้บริการในปี 2563 ที่จอดรถอยู่ที่สถานีศรีเอี่ยม รองรับรถได้ 5,000 คัน
-
รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เปิดให้บริการปี 2565 รวมที่จอดรถทั้งหมด 2 แห่ง โดยอยู่ที่สถานีบางประกอกเป็นอาคารจอดรถ 10 ชั้น รองรับรถได้ 1,700 คัน และที่สถานีราษฎร์บูรณะ เป็นอาคาร 8 ชั้น จอดรถได้ 800 คัน และอาคาร 9 ชั้นจอดรถได้ 900 คัน
นอกจากที่จอดรถที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีศูนย์การค้าใต้ดินภายในสถานีของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งเปิดให้บริการทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีกำแพงเพชร สถานีจตุจักร สถานีพหลโยธิน สถานีพระราม9 และสถานีสุขุมวิท อีกด้วย โดยร้านค้าที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่ก็เหมาะกับรูปแบบการเดินทาง สำหรับการเป็นสถานที่นัดพบของผู้ใช้บริการ และสถานที่รอคอยอีกด้วย ร้านค้าที่ให้บริการได้แก่ ร้านตัดผม ร้านกาแฟ ร้านขายเสื้อผ้าและของประดับ ร้านขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ ร้านการ์ดเกม และสถาบันติวเตอร์ต่างๆ เป็นต้น