NOTE:
– จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าร้อยละ 10 ของคนเมือง มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
– จากบทความของ สสส. พบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 20 เป็นภูมิแพ้จากมลภาวะที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดความแออัดอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สารก่อภูมิแพ้ขึ้น
– จากผลวิจัยของ National Weight Control Registry พบว่า คนที่กินอาหารเช้าหลังตื่นนอน 1 ชั่วโมงจะมีแนวโน้มที่อารมณ์ดี จิตใจเบิกบาน รวมไปถึงมีทักษะการเรียนรู้และจดจำที่มากกว่าปกติ
ในปัจจุบันคนเมืองทุกคนล้วนมีคู่แข่งคนเดียวกันนั่นก็คือ “เวลา” ฉะนั้นทุกอย่างในแต่ละวันจึงเต็มไปด้วยความเร่งรีบ รวมไปถึงการทุ่มเทและให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานและภาระต่างๆ จนหลายคนมักที่จะมองข้ามเรื่องการดูแลสุขภาพของตน ส่งผลให้คนเมืองมีภาวะร่างกายเสื่อมถอยสะสมโดยไม่รู้ตัว
และเราเชื่อว่ายังมีชาว Gen-C อีกหลายๆคนที่ยังคงใช้ชีวิตแบบคนเมือง นอกดึก ตื่นเช้า เร่งรีบกับการทำงาน กันอยู่หลายๆคน เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพในระยะยาววันนี้เรามี 7 วิถีชีวิตแบบคนเมืองที่ทำให้สุขภาพดูแย่มาฝากกัน ตรงข้อไหนกันบ้างรีบปรับปรุงก่อนที่จะสายนะครับ
1.ไม่กินข้าวเช้า
เชื่อหรือไม่ว่า “อาหารเช้า” สำคัญกว่าที่เราคิด เนื่องจากมื้อเช้าเป็นมื้อที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารและพลังงานทดแทนที่เสียไปในระหว่างกลางคืน การอดมื้อเช้าบ่อยๆจะทำให้ร่างกายขาดพลังงาน สมองไม่ได้รับสารอาหารไปกระตุ้น จึงทำให้เรามักรู้สึกไม่สดชื่น คิดอะไรไม่ออก สมองประมวลผลช้า เมื่อสะสมไปนานๆเข้าก็อาจก่อให้เกิดโรคตามมาเช่น โรคกรดไหลย้อน โรคเส้นเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคนิ่วและโรคอัลไซเมอร์ ทางที่ดีควรกินข้าวเช้าให้ติดเป็นนิสัยจะดีกว่านะครับ
2.ดื่มน้ำน้อย
ด้วยความที่ร่างกายของคนเราส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำกว่าร้อยละ 70 การดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตรจะช่วยให้ระบบไต สามารถดักจับไขมันและกำจัดสารพิษต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส ลดปัญหาท้องผูก ช่วยควบคุมความเป็นกรด-ด่างของของเหลวในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ สมองทำงานได้ดีเพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ การดื่มน้ำที่น้อยเกินไปในแต่ละวันจะส่งผลให้เลือดข้น ระบบหมุนเวียนของเหลวในร่างกายผิดปกติและมีอาการปวดศรีษะตามมา
3.นั่งท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
อาการเมื่อยล้าหรือกล้ามเนื้ออักเสบอันเกิดมาจากการนั่งท่าเดิมต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า“โรคออฟฟิศซินโดรม”นั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนเมือง เพราะด้วยพฤติกรรมในการทำงานที่ต้องนั่งท่าเดิมที่ติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 6 ชั่วโมง จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามบริเวณ ไหล่ บ่า ต้นคอ หลัง ตามมา การลุกขึ้นขยับร่างกายเป็นระยะก็เป็นอีกวิธีการที่จะช่วยป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมไม่ให้เกิดขึ้นได้
4.ทำงานล่วงเวลา
การทำงานล่วงเวลาก็สามารถส่งผลเสียให้กับร่างกายได้เช่นกัน เพื่อนๆลองนึกดูว่ารถยนต์ที่วิ่งตลอดเวลาไม่ได้พัก สักวันเครื่องยนต์ก็ต้องน็อคใช่ไหมครับ ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน ควรที่จะได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ทางที่ดีควรจัดสรรตารางและกำหนดขอบเขตความสำคัญของงานในแต่ละชิ้นว่าจะทำชิ้นใดก่อนชิ้นใดหลัง จะได้ไม่ต้องว่างตอนกลางวันแต่งานเยอะตอนช่วงเลิกงานเอานะครับ
5.นอนดึก, อดนอนเป็นประจำ
นอกเหนือจากการทำงานล่วงเวลาจนทำให้นอนดึก การติดโซเชียลหรือมือถือก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสมัยนี้นอนดึกมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Instagram , Line ที่ล้วนรบกวนเวลาในการนอนแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเราอดนอนบ่อยๆหรือนอนดึกติดต่อกันก็จะส่งผลให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานลดลง ขาดสมาธิ และอารมณ์แปรปรวนอยู่เสมอ ทางที่ดีควรนอนและตื่นให้เป็นเวลาเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเพียงพอจะดีกว่า
6.ปาร์ตี้ทุกอาทิตย์
“ทำงานหนักมาทั้งอาทิตย์ก็ต้องปาร์ตี้ให้หายเหนื่อยสักหน่อย” เชื่อว่ามีหลายๆคนที่คิดแบบนั้น แต่ลองนึกดูดีๆว่าเมื่อเราทำงานหนักติดต่อกันมาทั้งอาทิตย์แล้ว การปาร์ตี้จนร่างพังในวันหยุดนั้นดูจะเป็นการทำร้ายร่างกายในทางอ้อมยิ่งกว่าทำงานเสียอีก ไหนจะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อร่างกาย การอดนอนที่ทำให้ใบหน้าและสุขภาพทรุดโทรม รวมไปถึงการแฮงค์ในตอนเช้าที่ทำให้วันหยุดทั้งวันหมดไปกับอาการคลื่นไส้เวียนหัว ลองคิดดูดีๆแล้วยังจะไปปาร์ตี้ทุกอาทิตย์กันอยู่ไหมครับ
7.ไม่ออกกำลังกาย
ถึงแม้จะเสียเวลาไปกับการเดินทางและทำงานในแต่ละวันเป็นส่วนใหญ่ แต่การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานในร่างกายของเราให้แข็งแรงต่อสู้กับโรคร้ายได้อยู่เสมอ สำหรับคนเมืองที่ไม่ออกกำลังกายเลยก็จะทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้รับการพัฒนา ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย ลงพุงและมีความเครียดสะสม รู้แบบนี้แล้วว่างๆนัดเพื่อนๆในออฟฟิศไปออกกำลังกายกันบ้างนะครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.manager.co.th , www.thaihealth.or.th