NOTE:
– ร้อยละ 80 ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้าน
– โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่พบในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูงถึงร้อยละ 15 ของจำนวนประชากร
– นอกเหนือจากโรคไข้เลือดออกแล้วนั้น โรคฉี่หนูก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนค่อนข้างมาก จากสถิติผู้ป่วยในประเทศไทยกว่าร้อยละ 47 ล้วนทำอาชีพเกษตรกร
นอกจากสายฝนจะพัดพาเอาความชุ่มฉ่ำมาสู่บ้านเราในช่วงนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรปล่อยปะละเลยนั่นก็คือ “โรคต่างๆที่มากับหน้าฝน” อาทิ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ ไข้ฉี่หนู เป็นต้น เพราะด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ วันนี้เรามีวิธีรับมือกับ “โรคต่างๆ ที่มาพร้อมหน้าฝน” มาฝากชาว Gen-C กันครับ
จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งโรคที่มากับหน้าฝนออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้
1.กลุ่มโรคติดต่อเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อาทิ โรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ
วิธีป้องกัน: โรคเหล่านี้ล้วนเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพในอาหารที่รับประทาน อันเป็นตัวการที่ทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดหรือเก็บไว้นาน ควรเน้นอาหารที่ปรุงสุก สะอาดและใช้ช้อนกลางในการรับประทานร่วมกับผู้อื่นเสมอ
2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง อาทิ โรคแลปโตสไปโรซิส (ฉี่หนู)
วิธีป้องกัน: โรคกลุ่มนี้มักพบบ่อยในกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากมีการสัมผัสกับน้ำท่วมขังมากกว่าอาชีพอื่น วิธีป้องกันคือหลีกเลี่ยงให้บริเวณบาดแผลถูกน้ำที่ท่วมขังหรือแช่อยู่ในแอ่งน้ำสกปรก นอกจากนี้ควรสวมรองเท้าที่ห่อหุ้มบาดแผลเช่น รองเท้าบูท ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำได้
3.กลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม
วิธีป้องกัน: โรคกลุ่มนี้มักพบได้ง่ายที่สุด เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยอาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เด็ก และคนชรา ทางป้องกันคือเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำฝนเป็นระยะเวลานานๆ
4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคมาลาเรีย
วิธีป้องกัน: รู้หรือไม่ว่ากว่าร้อยละ 80 ของยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออกนั้นอาศัยอยู่ในบ้านของเรา ซึ่งวิธีป้องกันก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องใส่ใจในการรักษาความสะอาดของตัวบ้านและบริเวณโดยรอบเพื่อไม่ให้มีมุมอับหรือน้ำท่วมขังอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการนั่งในที่มืดๆหรือบริเวณนอกบ้านที่เสี่ยงต่อการโดนยุงกัดด้วยเช่นกัน
5.กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบ(ตาแดง)และโรคผิวหนังอักเสบ อาทิ น้ำกัดเท้า
วิธีป้องกัน: โรคเยื่อบุตาอักเสบนี้มักเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมาในน้ำสกปรกและเม็ดฝน หรือแม้แต่อาการน้ำกัดเท้าก็เกิดจากการที่ร่างกายสัมผัสกับสิ่งสกปรกในน้ำเป็นเวลานานๆจนก่อให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบตามมา ซึ่งถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดทันทีที่มีโอกาสเพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆที่จะเข้าสู่ร่างกายของเราในเบื้องต้นได้
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.health.mthai.com