ในยุคที่ “ภาวะโลกร้อน” กลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญไม่แพ้ปัญหาภายในชาติ ทางเดียวที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้คือความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่หน่วยงานเอกชน ภาครัฐ ตลอดไปจนถึงประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ “แวดวงสถาปัตยกรรมและงานออกแบบ” ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การเริ่มตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวงจรอย่างการออกแบบ จึงถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ผู้คนภายในสังคมรับรู้ถึงระดับของปัญหานี้ว่ามันส่งผลกระทบต่อวงกว้างมากกว่าที่คิดเพียงใด?
วันนี้เราจึงขอนำตัวอย่างงานดีไซน์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนของบรรดาประเทศต่างๆ มาฝากเพื่อนๆ ชาว Gen-C กันครับ
สิงคโปร์ประเทศที่ใช้งานดีไซน์เข้ามาชุบชีวิตให้พื้นที่ภายในเมือง
หากจะกล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้งานดีไซน์มาพัฒนาภูมิทัศน์คงหนีไม่พ้น “สิงคโปร์” ประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 718 ตารางกิโลเมตร (ใกล้เคียงกับจังหวัดภูเก็ตของไทย) แต่มีความเจริญทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สถาปัตยกรรม และการวางผังเมืองที่ดีกว่า เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางรูปแบบของผังเมืองโดยเฉพาะอย่าง “Urban Redevelopment Authority” หรือ URA ไว้คอยบริหารจัดการงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับผังเมืองและภูมิทัศน์
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก เริ่มต้นมาจาก นโยบายการวางผังเมืองของผู้นำอย่าง “ลี กวน ยู” ที่ได้ประกาศนโยบาย “Garden City” ในปี 1967 และได้ออกพระราชบัญญัติสวนสาธารณะและต้นไม้ในปี 1972 จนก่อให้เกิดความร่วมมือจากบรรดาภาคส่วนต่างๆ โดยการปลูกต้นไม้ในสิงคโปร์จะถูกพัฒนาควบคู่กับไปการวางแผนผังเมืองที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ (เช่นสิ่งปลูกสร้างทุกแห่งภายในประเทศจะต้องมีพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่กำหนดเสมอ) ส่งผลให้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 40 ปี สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าสิบเท่า
ดีไซน์ทดแทนเพื่อความยั่งยืน
เทรนด์ของการออกแบบ ณ ตอนนี้คือการดีไซน์สินค้าให้มีความยั่งยืน ลดการใช้วัสดุจำพวกพลาสติกหรือกระบวนการที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากผลงานการออกแบบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่แม้จะถูกลดทอนวัสดุแต่ยังคงคุณค่าทางฟังก์ชั่นการใช้งานไว้ดังเดิม เช่น การเปลี่ยนจากวัสดุพลาสติกมาใช้กระดาษในการผลิตหลอด หรือการรีดีไซน์บรรจุภัณฑ์ของแบรนด์น้ำดื่มยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตลดลง อีกทั้งยังคงสามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายภายใต้ปริมาตรความจุเท่าเดิม เป็นต้น
นำวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากกลับมาดีไซน์ใหม่
อีกหนึ่งเทรนด์นอกเหนือจากการดีไซน์ให้ยั่งยืนก็คือการนำวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากจำพวกพลาสติก มาผ่านงานดีไซน์เพื่อกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่มีคุณค่าขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์ของงานออกแบบเพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี ที่เห็นโดดเด่นสุดๆ กับการรีดีไซน์นี้คงนี้ไม่พ้นแบรนด์กระเป๋าชื่อดังสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่าง “Freitag” ที่ชูภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์สีเขียวด้วยการเลือกใช้วัสดุเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอย่าง ผ้าใบคลุมรถบรรทุก สายเข็มขัดนิรภัย ยางในของล้อจักรยาน ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋าใส่ของใบเก๋ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครจนทำยอดขายถล่มทลายเป็นกอบเป็นกำ
และทั้งหมดนี้ก็คือตัวอย่างของการนำงานดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดภาวะลดโลกร้อนที่เราได้นำมาฝากกัน หวังว่าชาว Gen C จะได้ตระหนักถึงปัญหาที่เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” นี้ขึ้นมากันนะครับ