HIGHLIGHTS
- วิธีการเก็บเนื้อสัตว์ให้นาน นำมาล้างให้สะอาดขัดด้วยเกลือ หลังจากนั้นนำเข้าช่องฟรีซ แช่แข็ง -18°C เก็บได้นาน 6 – 12 เดือน
- วิธีการเก็บผักสดให้นาน ไม่ล้างผักก่อนนำไปแช่เย็น และเก็บใส่ถุงซิปล็อก หรือกล่องสูญญากาศ
- วิธีการเก็บขนมปังให้นาน และยังอร่อย ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ห่ออาหาร และนำเข้าช่องแช่แข็ง -18°C เก็บได้นาน 2-3 เดือน
ถ้าเพื่อนๆ เคยต้องทิ้งเนื้อสัตว์, ขนมปังเหลือ หรือผักที่เน่าเพราะกินไม่ทันลงถังขยะ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เพราะขยะอาหาร (Food Waste) เมื่อถูกนำไปฝังกลบในดินจะผลิต ‘ก๊าซมีเทน’ ทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นในบทความนี้จึงอยากชวนเพื่อนๆ มาช่วยกันเซฟค่าอาหาร และเซฟโลกของเราด้วยการยืดอายุอาหารให้เก็บได้นานขึ้น…เพื่อกินได้หมดไม่เหลือทิ้ง
เรามาลองดูข้อมูลพื้นฐานเรื่องสัญลักษณ์ระบุอายุการเก็บรักษาบนฉลากอาหารกัน
- BBF หรือ BB = ควรบริโภคก่อนเวลาที่ระบุ หมายถึง สามารถทานต่อได้จากวันที่ระบุ แต่คุณภาพและรสชาติอาจมีการเปลี่ยนแปลง
- EXP หรือ EXD = หมดอายุ หมายถึง ไม่ควรทานเกินวันที่ระบุ
- MSG = วันที่ผลิต หมายถึง วันที่ผลิตสินค้านั่นเอง
และโดยพื้นฐานแล้วการเก็บอาหารนั้นต้องปลอดภัยต่อผู้ที่ทาน เช่น ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เติบโตในอาหาร, ไม่กลิ่นเหม็นหืน, สีสันไม่เปลี่ยน และยังคงรสชาติ เนื้อสัมผัสที่อยู่ในเกณฑ์ดี
มาลองดูกันว่าวิธีการยืดอายุอาหารให้นานมากขึ้นจะมีวิธีไหนบ้าง?
1.วิธีการเก็บเนื้อสัตว์ให้นาน
ไม่ว่าจะเนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู กุ้ง และปลาชนิดต่างๆ ล้วนแล้วต้องคัดที่สดใหม่ หรืออยู่ในสภาพปกติไม่เปลี่ยนสี ไม่มีกลิ่นผิดแปลก ก่อนนำมาเก็บตามขั้นตอนดังนี้
- นำมาล้างให้สะอาดขัดด้วยเกลือ ซับให้แห้งสนิทโดยเฉพาะเนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัว
- แบ่งปริมาณให้พอต่อการใช้งาน เช่น 100-200 กรัมต่อมื้อ
- ใส่ถุงซิปล็อกโดยไล่อากาศออกให้หมด หรือแพ็กด้วยเครื่องสูญญากาศ เพื่อป้องกันคุณภาพเนื้อสัตว์ไม่ให้สัมผัสความเย็นโดยตรง และลดการเกิดจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจนบางตัว เช่น รา หรือแบคทีเรีย
- นำเข้าช่องฟรีซ แช่แข็ง -18°C เก็บได้นาน 6 – 12 เดือน
เมื่อนำออกจากช่องแช่แข็งแล้วควรทานให้หมดในทันที ไม่ควรนำกลับไปเข้าแช่ซ้ำอีกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการทาน
2. วิธีการเก็บผักสดให้นาน
ด้วยความที่ผักแต่ละชนิดมีปัจจัยในการเก็บรักษาแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการที่จะเก็บผักได้ในระยะเวลานานจึงมีขั้นตอนแตกต่างออกไปดังนี้
- แยกชนิด ประเภทของผักออกจากกัน ไม่ควรเก็บรวมในถุงหรือกล่องเดียวกัน
- ไม่ล้างผักก่อนนำไปแช่เย็น แต่ควรล้างทุกครั้งก่อนทำอาหาร
- เก็บใส่ถุงซิปล็อก หรือกล่องสูญญากาศ
- แช่ในอุณหภูมิปกติ 4°C เก็บได้นาน 2-14 วัน หรือแช่แข็ง -18°C เก็บได้นาน 8 – 12 เดือน
ทริคเพิ่มเติม:
- การเก็บกระเทียมแบบกลีบ ไม่ต้องล้างทำความสะอาด นำใส่กล่องที่รองด้วยทิชชู่ด้านล่าง และปิดด้วยทิชชู่อีกครั้งก่อนปิดฝาให้สนิท
- การเก็บใบกะเพราให้นาน เด็ดใบกะเพราแล้วนำไปลวกในน้ำเดือด จากนั้นน็อคน้ำเย็นก่อนจับให้เป็นก้อนพอใช้งาน 1 ครั้งแล้วบีบน้ำออกให้สนิท ใส่กล่องปิดฝาแช่แข็งได้ทันที
- การเก็บพริกสด คัดพริกที่อยู่ในสภาพดีนำมาล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นซับและตากให้แห้งสนิท ก่อนเด็ดขั้วออกและวางลงในกล่องที่รองด้วยทิชชู่ และปิดด้วยทิชชู่อีกครั้งก่อนปิดฝาให้สนิท
3. วิธีการเก็บขนมปังให้นาน และยังอร่อย
ขนมปัง ไม่ว่าจะแบบแผ่น แบบก้อน มักจะถูกทิ้งก่อนทานหมดทุกที เพราะด้วยการอุณหภูมิที่ไม่เอื้อต่อการเก็บ และมีผลต่อการเติบโตของเชื้อรา
ดังนั้นหากเพื่อนๆ อยากเก็บขนมปังให้นานขึ้น ยืดอายุความอร่อยให้มากกว่าเดิม เรามีทริคมาฝากกัน ดังนี้
- เช็กขนมปังว่าไม่มีรา และต้องเป็นขนมปังที่ไม่มีไส้
- หั่นขนมปังเป็นแผ่น และจัดปริมาณให้พอต่อการทาน 1 มื้อ
- ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ห่ออาหาร
- เข้าช่องแช่แข็ง -18°C เก็บได้นาน 2-3 เดือน
เมื่อต้องการทานเพียงนำออกจากช่องแช่แข็ง นำมาอุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือเตาอบและทานให้หมดในทันที ไม่ควรนำกลับไปเข้าแช่ซ้ำอีกครั้ง
เพียงเท่านี้อาหารที่เคยทิ้งเพราะกินไม่หมด ก็จะลดปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) ลงได้ แถมช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องทิ้งไปนั่นเอง