NOTE:
– ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีมีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ สามารถเกิดได้จากแหล่งกำเนิดฝุ่นโดยตรง (โรงงาน การเผาขยะ ท่อไอเสียรถยนต์) และจากการรวมตัวของก๊าซมลพิษอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ
– จากผลสำรวจพบว่า การเผาขยะในที่โล่ง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 สูงถึง 209,937 ตันต่อปี
– จากการศึกษาของมหาวิทยาวอชิงตันพบว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมในการเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด หรือ โรคติดเชื้อฉับพลันระบบหายใจส่วนล่าง โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคต่างๆ เหล่านี้ก่อนวัยอันควรกว่า 50,000 คนต่อปี
ปัจจุบันปัญหาเรื่องฝุ่นพิษอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากในช่วงรอบปีที่ผ่านมาที่กรุงเทพฯของเรานั้นถูกฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมชั้นบรรยากาศ จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกโรงเตือนให้ประชาชนระวังผลกระทบจากบรรดาฝุ่นที่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสโลหิต รวมไปถึงอวัยวะภายในต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคร้าย อาทิ โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมองตามมา
โดยสาเหตุหลักๆ ที่ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตกว่าที่คาดเนื่องจากฝุ่นเหล่านี้เป็นล้วนสารพิษอันตรายที่มีลักษณะทางกายภาพเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไร้สี ไร้กลิ่น ซึ่งด้วยอนุภาคที่เล็กมากๆ ขนาดนี้จึงทำให้พวกมันสามารถแทรกซึมผ่านตัวกลางต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่หน้ากากอนามัยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ทั้งนี้สำหรับวิธีรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน สามารถทำได้โดยการ ‘สวมหน้ากาก’ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อกรองโมเลกุลของฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ ซึ่งหน้ากากที่เราใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ ดังนี้
‘Surgical Masks’ หรือ ‘หน้ากากอนามัย’ เป็นหน้ากากที่ชาว Gen C Blog หลายๆ คนย่อมเคยใช้ในวันที่เป็นหวัดอย่างแน่นอน โดยหน้ากากประเภทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดการปนเปื้อนของอนุภาคจากตัวผู้สวมใส่ (เช่น น้ำมูก น้ำลาย เวลาไอหรือจาม) ไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่อากาศโดยรอบและยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการกระเด็นของสารคัดหลั่งเช่น เลือด เข้าสู่บริเวณปากและจมูกของผู้สวมใส่ ได้อีกด้วย
‘Respirators’ หรือ ‘หน้ากากกรองอากาศ’ ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดการสัมผัสกับสารปนเปื้อนในอากาศขณะที่เราหายใจ ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่นละออง ฝุ่นดิน แก๊ส ไอระเหย กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ฯลฯ ซึ่งหน้ากากประเภทนี้จะมีลักษณะที่แนบกระชับกับใบหน้ามากกว่าหน้ากากอนามัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกรั่วไหลเข้ามายังบริเวณรอยต่อระหว่างหน้ากากและใบหน้าจนเกิดการปนเปื้อนนั่นเอง
ซึ่งการสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้หน้ากากกรองอากาศเพื่อประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยควรเลือกใช้ตั้งแต่ชนิด N95 ที่เป็นหน้ากากกรองอากาศที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เล็กถึง 0.3 ไมครอน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ควันจากท่อไอเสีย แก๊ส และไอระเหยจากสารเคมี รับรองว่าหน้ากากชนิดนี้เอาอยู่ได้ทั้งหมด
และนอกจากหน้ากากกรองอากาศชนิด N95 แล้ว ในการเลือกซื้อหน้ากากแต่ละประเภท ชาว Gen C Blog จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการรับรอง ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพของการกรองอากาศของหน้ากากได้เป็นอย่างดี อาทิ มาตรฐานการรับรองจากยุโรป (European Standard, EN 149) ที่หน้ากากต้องมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคตั้งแต่ 80% ขึ้นไป หรือ มาตรฐานการรับรองจากออสเตรเลีย (Australia Standard, AS 1761) หน้ากากต้องมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคตั้งแต่ 94% ขึ้นไป เป็นต้น
นอกจากนี้การระมัดระวังไม่พาตนเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการปนเปื้อนสูง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ โดยในปัจจุบันได้มีแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ‘AirVisual’ เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบพื้นที่ที่มีปริมาณมลพิษสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหรือสามารถเข้าไปตรวจสอบสภาพมลพิษยังเว็บไซต์ http://aqicn.org ได้อีกทาง
และนี่ก็คือ How to เล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ใช้รับมือกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เราได้นำมาฝากชาว Gen C Blog กัน รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมแนะนำเทคนิคเหล่านี้ให้คนรอบข้างนำไปใช้กันด้วยนะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาเรื่องฝุ่นพิษขนาดเล็กจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากมนุษย์ทุกคนหันมาใส่ใจในพฤติกรรมของตนให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวถ้าไม่จำเป็น ลดการเผาขยะโดยไม่มีการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเริ่มต้นได้จากที่ตัวเราครับ
ค้นหาแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ ตรงจุด ชีวิตคนเมือง มองโลกใหม่ในอีกมิติที่คุณไม่เคยสัมผัสที่ GEN-C Urban Living Solutions
Facebook: Ananda Development
Instagram: ananda_development
Youtube: Ananda Development
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: www.honestdocs.co